fbpx

🔥FREE! Schedule a 3D Facial Design consultation with Dr.Chanya only this month 🇺🇸 🇰🇷 🔥

คอลลาเจน คืออะไร? เคล็ดลับผิวสวยที่คุณต้องรู้

คอลลาเจน คืออะไร? เคล็ดลับผิวสวยที่คุณต้องรู้
คอลลาเจน คืออะไร? เคล็ดลับผิวสวยที่คุณต้องรู้

เคยสังเกตกันไหมว่าผิวที่เคยเต่งตึงสดใสเมื่อวัยรุ่น กลับเริ่มมีริ้วรอยและหย่อนคล้อยเมื่อเวลาผ่านไป? นั่นเป็นเพราะการลดลงของคอลลาเจนในชั้นผิว คอลลาเจนเป็นโปรตีนสำคัญที่ช่วยเสริมสร้างโครงสร้างผิว ให้ดูเนียนกระชับและอิ่มฟู แต่โชคร้ายที่ร่างกายผลิตคอลลาเจนลดลงเมื่ออายุเพิ่มขึ้น การเสริมคอลลาเจนจึงเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยฟื้นคืนผิวสวยในแบบที่คุณต้องการ แต่เราจะเสริมสร้างคอลลาเจนได้อย่างไร? บทความนี้มีคำตอบ!

คอลลาเจนคืออะไร?

คอลลาเจน (Collagen) คือ โปรตีนชนิดหนึ่งที่ร่างกายสร้างขึ้น โดยมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 30 ของโปรที่พบทั้งหมดในร่างกาย คอลลาเจนเปรียบเสมือน “กาว” ที่ช่วยยึดเหนี่ยวเซลล์และเนื้อเยื่อต่าง ๆ ในร่างกายให้แข็งแรง รวมทั้งเป็นส่วนประกอบสำคัญของผิว กล้ามเนื้อ เนื้อเยื่อเกี่ยวพัน (Connective Tissue) รวมถึงอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายด้วย

ประเภทของคอลลาเจน

คอลลาเจนมีหลากหลายชนิด โดยแต่ละชนิดจะของคอลลาเจนมีสรรพคุณที่แตกต่างกันไป ซึ่งในร่างกายของคนเราจะพบคอลลาเจนมากถึง 28 ชนิด แต่ประเภทที่สำคัญและพบได้มากที่สุดจะแบ่งออกได้เป็น 5 ประเภท ดังนี้

  • คอลลาเจนชนิดที่ 1 (Type I Collagen) เป็นคอลลาเจนชนิดที่พบมากที่สุดในร่างกาย โดยพบมากถึงร้อยละ 90 จากคอลลาเจนทั้งหมดในร่างกาย คอลลาเจนชนิดนี้เป็นส่วนประกอบสำคัญของโครงสร้างกระดูก เอ็นกล้ามเนื้อ รวมถึงผิวหนังและหลอดเลือด 
  • คอลลาเจนชนิดที่ 2 (Type II Collagen) มีความยืดหยุ่นสูงและรองรับแรงกระแทกได้ดีกว่าคอลลาเจนชนิดอื่น ๆ และมีหน้าที่ในการกระตุ้นให้เซลล์สังเคราะห์เซลล์ใหม่ ๆ ขึ้น พบได้มากในกระดูกอ่อน หมอนรองกระดูก ข้อต่อต่าง ๆ
  • คอลลาเจนชนิดที่ 3 (Type III Collagen) เป็นคอลลาเจนที่มักพบร่วมกับคอลลาเจนชนิดที่ 1 แต่จะพบได้น้อยกว่า คอลลาเจนชนิดนี้ช่วยให้ความยืดหยุ่นกับผิวหนังและเนื้อเยื่อที่อ่อนนุ่ม พบมากบริเวณผนังหลอดเลือด กล้ามเนื้อ และอวัยวะภายในต่าง ๆ
  • คอลลาเจนชนิดที่ 4 (Type IV Collagen) คอลลาเจนชนิดนี้มีลักษณะเฉพาะตัว คือ มีโครงสร้างเป็นตาข่าย มักทำงานเกี่ยวข้องกับการทำงานของระบบประสาทและเส้นเลือด ช่วยกรองสารในไต และช่วยรักษาความแข็งแรงของผนังหลอดเลือดในข้อต่ออีกด้วย
  • คอลลาเจนชนิดที่ 5 (Type V Collagen) เป็นคอลลาเจนที่พบได้ในปริมาณน้อย แต่มีความสำคัญในกระบวนการพัฒนาของเนื้อเยื่อ โดยคอลลาเจนชนิดนี้เป็นส่วนประกอบของคอลลาเจนชนิดที่ 1 พบมากในบริเวณเส้นผม กระจกตา รกเด็ก และชั้นผิวหนัง

แหล่งที่มาของคอลลาเจน

คอลลาเจนเป็นโปรตีนที่ร่างกายสามารถสร้างขึ้นได้เองตลอดชีวิต โดยร่างกายจะสังเคราะห์คอลลาเจนใหม่ขึ้นเพื่อทดแทนคอลลาเจนเดิมที่เสื่อมสลายไป แต่เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้นกระบวนการนี้อาจทำงานได้ช้าลง นอกจากนี้แล้วปัจจัยอื่น ๆ เช่น รังสียูวี, ความเครียด หรือการสูบบุหรี่ ก็อาจทำให้กระบวนการสังเคราะห์คอลลาเจนเสียสมดุลไปได้

นอกจากนี้ คอลลาเจนยังพบได้อาหาร เช่น อาหารจำพวกปลาทะเล, เนื้อสัตว์ต่าง, ถั่วหลากสี, พืชผักใบเขียว, เห็ดชนิดต่าง ๆ, และเอ็นสัตว์หรือกระดูกอ่อน ปัจจุบันยังมีคอลลาเจนในรูปแบบผลิตภัณฑ์อาหารเสริมหลากหลายชนิด ทั้งในชนิดเม็ดชนิดผงละลายน้ำ

คอลลาเจนช่วยอะไรผิวพรรณได้บ้าง?

คอลลาเจนมีประโยชน์สำคัญต่อสุขภาพผิว เนื่องจากเป็นโปรตีนโครงสร้างหลักในชั้นหนังแท้ (Dermis) โดยประโยชน์ของคอลลาเจนต่อผิวสามารถอธิบายได้อย่างละเอียดดังนี้

  • คอลลาเจนช่วยให้ผิวกระชับและยืดหยุ่น เพราะคอลลาเจนเป็นโปรตีนที่พบมากที่สุดในโครงสร้างผิวจึงเปรียบเสมือนโครงสร้างหลักที่ช่วยค้ำจุนผิว ช่วยให้ผิวกระชับ ยืดหยุ่น  ลดโอกาสการเกิดริ้วรอย รอยเหี่ยวย่น ผิวหย่อนคล้อย
  • คอลลาเจนช่วยรักษาความชุ่มชื้นของผิว เพราะโมเลกุลของคอลลาเจนยังมีโครงสร้างที่สามารถอุ้มน้ำได้ดี ทำให้ผิวที่มีคอลลาเจนในปริมาณที่เพียงพอผิวจะกักเก็บความชุ่มชื้นได้ดีขึ้น ผิวจึงดูเปล่งปลั่ง อิ่มน้ำ และอยู่ในสภาวะที่สมดุล ผิวไม่แห้งหรือผิวมันมากเกินไป
  • คอลลาเจนช่วยปกป้องผิวจากสิ่งแวดล้อม เนื่องจากผิวที่มีปริมาณคอลลาเจนที่เพียงพอ จะมีเกราะป้องกันผิวที่แข็งแรง ทำให้ยากต่อการสูญเสียน้ำในผิวหรือการที่ถูกรบกวนจากมลพิษต่าง ๆ เช่น แสงแดด, ฝุ่น และสภาพอากาศ
  • คอลลาเจนช่วยสมานแผลและลดรอยแผลเป็น โดยคอลลาเจนช่วยกระตุ้นการสร้างเซลล์ผิวใหม่และซ่อมแซมเซลล์ผิวที่เสียหาย เช่น รอยแผลเป็นหรือรอยสิว ช่วยให้ผิวเรียบเนียน สีผิวดูสม่ำเสมอ
  • คอลลาเจนช่วยลดการอักเสบของผิว เนื่องจากในคอลลาเจนจะมีกรดอะมิโน เช่น ไกลซีน (Glycine) และโปรลีน (Proline) อยู่ โดยกรดอะมิโนเหล่านี้มีคุณสมบัติต้านการอักเสบ ช่วยให้ผิวที่มีคอลลาเจนในปริมาณที่เพียงพอ จะมีอาการระคายเคืองและการอักเสบที่ผิวน้อย ลดโอกาสในการเกิดผื่นและสิวอักเสบ

 

ถ้าผิวขาดคอลลาเจนจะส่งผลอย่างไร?

ถ้าผิวขาดคอลลาเจน จะส่งผลต่อโครงสร้างและสุขภาพของผิวอย่างชัดเจน โดยการขาดคอลลาเจนส่งผลในหลายด้านทั้งความสวยงามและสุขภาพผิว เช่น

  • ผิวหย่อนคล้อย หนึ่งในประโยชน์ของคอลลาเจนคือการค้ำจุนผิว เมื่อคอลลาเจนลดลงผิวจึงเหมือนขาดเสาหลักในการค้ำจุน ทำให้ผิวที่เคยเต่งตึงเริ่มหย่อนคล้อย โดยเฉพาะบริเวณรอบดวงตา มุมปาก กรอบหน้าและลำคอ
  • ริ้วรอยร่องลึก การลดลงของคอลลาเจนทำให้โครงสร้างของผิวไม่แข็งแรงและขาดความยืดหยุ่น เมื่อมีการแสดงออกทางสีหน้า ผิวที่ย่นไปตามกล้ามเนื้อจึงคืนกลับสู่รูปเดิมได้ยาก ส่งผลให้เกิดริ้วรอยที่เห็นได้ชัด เช่น รอยตีนกา, รอยย่นบนหน้าผาก และร่องแก้มลึก
  • ผิวขาดความชุ่มชื้น เนื่องจากประโยชน์ของคอลลาเจนมีหน้าที่สำคัญ คือ การกักเก็บน้ำให้กับชั้นผิว หากร่างกายขาดคอลลาเจน ผิวจะสูญเสียความชุ่มชื้น ขาดความสมดุล จนเกิดผิวมัน ผิวแห้งกร้าน และผิวหมองคล้ำได้
  • ผิวอ่อนแอ คอลลาเจนเป็นส่วนประกอบสำคัญที่ทำให้ผิวมีความหนาและแข็งแรง การขาดคอลลาเจนทำให้ผิวบางลง และไวต่อการเกิดการระคายเคืองและการถูกรบกวนจากมลภาวะต่างๆ
  • รอยแตกลายและเซลลูไลท์ การลดลงของคอลลาเจนทำให้โครงสร้างเนื้อเยื่อไม่แข็งแรง ส่งผลให้ผิวเกิดรอยแตกลาย (Stretch Marks) และเซลลูไลท์ (Cellulite) ชัดเจนมากขึ้น
  • แผลหายช้า เมื่อผิวถูกทำร้าย เช่น การเกิดบาดแผลหรือการเกิดสิว คอลลาเจนจะถูกสร้างขึ้นเพื่อสมานแผลและสร้างเซลล์ใหม่ เมื่อขาดคอลลาเจน จะทำให้แผลจะหายช้า และมีโอกาสเกิดรอยแผลเป็นหลังแผลหายได้มากขึ้น

 

ปัจจัยที่ทำลายคอลลาเจน

ปัจจัยที่ทำให้ปริมาณคอลลาเจนในร่างกายลดลงมีทั้งปัจจัยภายในที่เกิดจากกระบวนการทางธรรมชาติ และปัจจัยภายนอกที่เกิดจากพฤติกรรมหรือสิ่งแวดล้อม ซึ่งสามารถอธิบายได้ดังนี้

  • อายุ (Aging) เมื่ออายุมากขึ้นเซลล์ต่าง ๆ จะค่อย ๆ เสื่อมสภาพลง ซึ่งรวมถึงกระบวนการผลิตคอลลาเจนด้วย โดยการผลิตคอลลาเจนในร่างกายจะลดลงอย่างต่อเนื่อง ปีละ 1% โดยเริ่มขึ้นเมื่อเราอายุ 20 ปีขึ้นไป
  • การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน เช่น ฮอร์โมนไทรอยด์ช่วยควบคุมการเผาผลาญพลังงานในร่างกาย รวมถึงกระบวนการสร้างคอลลาเจนและการซ่อมแซมเนื้อเยื่อ เมื่อใดก็ตามที่ฮอร์โมนชนิดนี้ทำงานผิดปกติ ก็จะทำให้กระบวนการผลิตคอลลาเจนผิดปกติไปด้วย
  • รังสียูวีจากแสงแดด ในแสงแดดจะมีรังสียูวี (Ultraviolet Radiation) ที่สามารถทะลุเข้าสู่ผิวหนังได้ลึกถึงชั้นหนังแท้ โดยรังสียูวีจะเข้าไปกระตุ้นการสร้างสารอนุมูลอิสระ รวมถึงทำลายอีลาสตินและคอลลาเจน ทำให้ผิวเสื่อมสภาพลงอย่างรวดเร็ว
  • การสูบบุหรี่ สารเคมีในบุหรี่ เช่น นิโคติน (Nicotine) และน้ำมันทาร์ จะเข้าไปขัดขวางระบบการไหลเวียนโลหิตและกระตุ้นการสร้างสารอนุมูลอิสระ ทำให้จำนวนอีลาสตินและคอลลาเจนลดลง
  • การพักผ่อนไม่เพียงพอ เนื่องจากในขณะที่เรานอนหลับร่างกายจะหลั่งสารเมลาโทนิน (Melatonin) ออกมาเพื่อซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ หากไม่ได้พักผ่อนอย่างเพียงพอก็จะทำให้ผิวไม่ได้รับการฟื้นฟู คอลลาเจนที่ควรจะผลิตออกมาใหม่ก็ถูกหยุดชะงักไปด้วย
  • การดื่มสุรา จะทำให้ร่างกายเกิดภาวะคายน้ำ (Dehydration) และลดการดูดซึมสารอาหารที่สำคัญสำหรับการสร้างคอลลาเจน
  • พฤติกรรมการรับประทานอาหาร โดยเฉพาะการรับประทานอาหารอาหารกลุ่มคาร์โบไฮเดรตเป็นประจำ เนื่องจากการย่อยอาหารประเภทนี้จะทำให้เกิดกระบวนการไกลเคชัน (Glycation) ซึ่งเป็นกระบวนการเปลี่ยนแป้งให้เป็นโมเลกุลน้ำตาล ส่งผลให้กระบวนการฟื้นฟูผิวตามธรรมชาติถูกรบกวน ซึ่งรวมถึงการสร้างคอลลาเจนลดลงด้วย
ปรึกษาหมอชัญญาโดยตรง
ปรึกษาหมอชัญญาโดยตรง

วิธีเพิ่มคอลลาเจนให้กับผิว

การเพิ่มคอลลาเจนให้กับผิวสามารถทำได้หลายวิธี ทั้งการปรับพฤติกรรมการรับประทาน การดูแลผิวจากภายนอก และการใช้นวัตกรรมทางการแพทย์ เพื่อช่วยกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนและลดการเสื่อมสลายของคอลลาเจนเดิมในผิวหนัง โดยวิธีที่ Better Me Clinic แนะนำ มีดังนี้

1. การรับประทานคอลลาเจน

นอกจากคอลลาเจนจะสามารถสร้างขึ้นเองได้ตามธรรมชาติแล้ว เรายังสามารถเลือกรับประทานอาหารที่ช่วยกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนได้ ดังนี้

  • อาหารที่มีวิตามินซีสูง เช่น ส้ม, มะนาว, กีวี ,ฝรั่ง หรือสตรอว์เบอร์รี เป็นวิตามินที่มีส่วนสำคัญในการกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนในร่างกาย อีกทั้งยังเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยป้องกันการเสื่อมของคอลลาเจนอีกด้วย
  • อาหารที่มีโปรตีนสูง เช่น ปลา, ไก่, เนื้อสัตว์, ไข่ หรือถั่วเหลือง เนื่องจากคอลลาเจนเองเป็นหนึ่งโปรตีนชนิดหนึ่ง การรับประทานโปรตีนเข้าไปจะช่วยให้ร่างกายมีวัตถุดิบที่มากพอในการกระตุ้นสร้างคอลลาเจนใหม่
  • อาหารที่มีโอเมก้า 3 เช่น ปลาแซลมอน, ปลาทูน่า, อะโวคาโด และถั่ววอลนัท โดยโอเมก้า 3 มีฤทธิ์เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยปกป้องเซลล์ผิวจากความเสียหายที่เกิดจากอนุมูลอิสระ ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คอลลาเจนเสื่อมสภาพ รวมทั้งโอเมก้า 3 ยังช่วยรักษาความชุ่มชื้นให้กับผิว ซึ่งจะส่งผลดีต่อการสร้างคอลลาเจน

หากกังวลว่าจะรับประทานคอลลาเจนได้ไม่เพียงพอ ปัจจุบันยังมีคอลลาเจนในรูปแบบผลิตภัณฑ์อาหารเสริมหลากหลายชนิดให้เลือกรับประทาน เช่น คอลลาเจนเปปไทด์ (Collagen Peptides), คอลลาเจนไตรเปปไทด์ (Collagen Tripeptides) และคอลลาเจนจากพืช (Plant-Based Collagen Booster)

หากอ้างอิงตามเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เราควรรับประทานคอลลาเจนเพียง 5-7 กรัม (5,000-7,000 มิลลิกรัม) ต่อวัน และไม่ควรรับประทานเกิน 10 กรัม (10,000 มิลลิกรัม) ต่อวัน เพื่อป้องกันการเกิดผลข้างเคียง

อย่างไรก็ตามการทานอาหารเสริมคอลลาเจนเป็นทางเลือกหนึ่งในการดูแลผิวพรรณ แต่ควรปรึกษาผู้ชำนาญก่อนตัดสินใจ และควรทานควบคู่กับการดูแลผิวอย่างถูกวิธี เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด

2. การบำรุงผิวด้วยสกินแคร์

หลายคนมักเข้าใจว่าการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของคอลลาเจนในการทาที่ผิวหน้าหรือผิวกายจะช่วยกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนใหม่ได้ แต่แท้จริงแล้วคอลลาเจนเป็นโปรตีนที่มีโมเลกุลขนาดใหญ่ ทำให้ไม่สามารถซึมผ่านผิวหนังได้โดยตรง ผิวจะซึมซับได้ก็ต้องเมื่อคอลลาเจนได้ผ่านการย่อยจนกลายเป็นกรดอะมิโนแล้วเท่านั้น

ดังนั้นหากต้องการเพิ่มคอลลาเจนให้ผิวหน้า การเลือกใช้มอยส์เจอร์ไรเซอร์ทั่ว ๆ ไปอาจเพียงพอแล้ว โดยการใช้มอยส์เจอร์ไรเซอร์ให้ได้ผลดีจะต้องคำนึงถึงเนื้อผลิตภัณฑ์เป็นสำคัญ โดยผู้ที่มีผิวแห้งอาจเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีเนื้อสัมผัสเป็นเนื้อครีมหรือโลชั่น ผู้ที่มีผิวมันควรเลือกมอยส์เจอร์ไรเซอร์ที่มีน้ำเป็นส่วนประกอบหลักอย่างเนื้อโลชั่นและอิมัลชั่น และหลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของน้ำมัน ส่วนในผู้ที่มีผิวปกติ สามารถใช้มอยส์เจอร์ไรเซอร์ได้ทุกแบบแต่ควรเลือกใช้ให้เหมาะสมกับสภาพอากาศ ณ เวลานั้น 

นอกจากนี้แล้วผู้ที่ต้องการกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนใหม่ควรมองหาผลิตภัณฑ์ที่มีสารต่าง ๆ เหล่านี้

  • เรตินอยด์ (Retinoids) เป็นอนุพันธ์วิตามินเอที่สามารถช่วยกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนและอีลาสติน ช่วยให้ผิวกระชับและอ่อนเยาว์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • วิตามินซี (Vitamin C) ช่วยกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนและลดความเสียหายจากสารอนุมูลอิสระ รวมทั้งยังช่วยในการซ่อมแซมเนื้อเยื่อที่ถูกทำลายอีกด้วย
  • เปปไทด์ (Peptides) เปปไทด์ชนิดต่าง ๆ มีหน้าที่แตกต่างกันไป บางชนิดอาจจะกระตุ้นให้เซลล์ผิวสร้างคอลลาเจนมากขึ้น บางชนิดอาจจะช่วยให้คอลลาเจนที่สร้างขึ้นมีความแข็งแรงมากขึ้น การใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของเปปไทด์จะช่วยปรับปรุงโครงสร้างของผิวให้แข็งแรงขึ้น ผิวดูเรียบเนียนและเต่งตึง

การใช้มอยส์เจอร์ไรเซอร์จะช่วยกักเก็บความชุ่มชื้นให้กับผิว เสริมสร้างเกราะป้องกันผิวให้แข็งแรง เมื่อใช้ร่วมกับวิตามินซี เรตินอยด์ หรือเปปไทด์ ก็จะยิ่งทำให้สารเหล่านี้ซึมเข้าสู่ผิวได้ดีและไปกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนได้ง่ายมากขึ้น

3. การเพิ่มคอลลาเจนด้วยนวัตกรรมทางการแพทย์

การเพิ่มคอลลาเจนด้วยนวัตกรรมทางการแพทย์เป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับผู้ที่ต้องการดูแลผิว ข้อดีของการเลือกกระตุ้นคอลลาเจนด้วยวิธีนี้ คือ เห็นผลลัพธ์หลังการทำที่รวดเร็ว รวมทั้งทุกหัตถการจะได้รับการประเมินผิวจากแพทย์เพื่อเลือกวิธีที่เหมาะสมก่อน ทำให้มั่นใจได้ว่าหลังทำจะได้ผลลัพธ์ที่พึงพอใจและตอบโจทย์ความต้องการในแต่ละบุคคล โดยวิธีที่ Better Me Clinic แนะนำ มีดังนี้

  • การฉีดฟิลเลอร์ คือ การฉีดสารเติมเต็มเข้าไปช่วยในการกักเก็บความชุ่มชื้นลงไปบริเวณที่มีปัญหาผิว โดยตัวยาจะไปจับตัวกับน้ำและพองตัวขึ้นจนมีลักษณะคล้ายเจล โดยฟิลเลอร์ที่ช่วยกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนได้ มักจะมีส่วนประกอบที่เรียกว่า Biostimulator เช่น ฟิลเลอร์ Radiesse
  • การทำ HIFU เป็นการใช้เป็นเครื่องมือยกกระชับผิวที่ใช้คลื่นอัลตราซาวด์ความเข้มข้นสูงเข้าไปทำลายเนื้อเยื่อผิวชั้น SMAS  ทำให้ผิวชั้นนี้หดตัวและเกิดการกระตุ้นสร้างคอลลาเจนรวมถึงเนื้อเยื่อขึ้นมาใหม่ HIFU ได้รับความนิยมมากในการนำมาแก้ปัญหาริ้วรอย ผิวหย่อนคล้อย สามารถเห็นผลลัพธ์หลังทำได้ทันที แต่จะเห็นผลชัดเจนที่สุดเมื่อเวลาผ่านไปราวๆ 2 เดือน
  • การทำ Ultraformer lll เป็นเครื่องมือการทำ HIFU ที่ใช้นวัตกรรม MMFU (Micro & Macro Focused Ultrasound) เข้ามาช่วย ทำให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าการทำ HIFU แบบทั่วไปถึง 5 เท่า และผลลัพธ์จะคงประสิทธิภาพไว้ได้นานประมาณ 6 เดือนถึง 1 ปี
  • การทำ Ulthera เป็นอีกหนึ่งในเครื่องมือการทำ HIFU แต่เครื่อง Ulthera จะโดดเด่นกว่าเครื่องอื่น ๆ  เพราะมีหัวยิงที่มีขนาดจุดโฟกัสเล็กกว่า รวมถึงมีจอแสดงผลแบบเรียลไทม์ ทำให้แพทย์สามารถสังเกตเห็นชั้นผิวและแก้ปัญหาผิวได้อย่างตรงจุด โดยการทำ Ulthera เพียง 1 ครั้ง ยังสามารถคงผลลัพธ์ได้นานถึง 1 ปี
  • การฉีดรีจูรัน (Rejuran) เป็นการฉีดวิตามินและสารสกัดต่างๆ ที่มีประโยชน์ต่อผิว โดยสารสกัดเด่น คือ สารพอลินิวคลีโอไทด์ ซึ่งสกัดมาจากดีเอ็นเอของปลาแซลมอน มีความคล้ายคลึงกับดีเอ็นเอของมนุษย์มาก การฉีดรีจูรันจะช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด ช่วยให้เลือดนำสารอาหารและออกซิเจนไปเลี้ยงเซลล์ผิว และกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนใหม่ นอกจากนี้แล้วสารพอลินิวคลีโอไทด์ยังช่วยกักเก็บน้ำในชั้นผิว ทำให้ผิวดูอิ่มน้ำและเรียบเนียนขึ้นอีกด้วย
  • การฉีด Sculptra โดย Sculptra มีส่วนประกอบหลักคือ Poly-L-Lactic Acid (PLLA) เมื่อฉีด Sculptra ลงสู่ผิว สาร PLLA จะกระจายไปทั่วบริเวณชั้นผิวหนัง และกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนผ่านระบบภูมิคุ้มกันและสร้างขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังฉีดผลลัพธ์จะชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ ภายใน 4-6 สัปดาห์ และสามารถคงอยู่ได้นาน 2-3 ปี
  • การใช้เลเซอร์ผิว (Laser Resurfacing) เป็นการปล่อยพลังงานแสงเข้าไปใต้ผิว เพื่อทำให้เกิดความร้อนในชั้นผิวหนัง โดยความร้อนไปจะไปทำร้ายผิวอย่างอ่อนโยนและกระตุ้นให้เกิดการผลิตคอลลาเจนใหม่ออกมาเพื่อซ่อมแซมผิว สามารถเลือกใช้ได้หลายนวัตกรรม เช่น Fractional CO2, Erbium YAG และ Nd:YAG

คำถามที่พบบ่อย

1. คอลลาเจนช่วยให้ผิวขาวขึ้นได้หรือไม่?

คอลลาเจนไม่ได้มีสรรพคุณช่วยให้ผิวขาวขึ้นได้โดยตรง แต่คอลลาเจนมีบทบาทสำคัญในการฟื้นฟูและดูแลสุขภาพผิวให้เรียบเนียน ชุ่มชื้น และกระจ่างใส ซึ่งอาจทำให้ผิวดูสดใสและมีสุขภาพดีจนดูเหมือนผิวขาวขึ้นได้

2. อายุที่เหมาะสมสำหรับการเริ่มเสริมคอลลาเจนคือเมื่อไหร่?

เมื่ออายุเข้าสู่วัย 25 ปี คอลลาเจนในร่างกายเริ่มลดลงอย่างเห็นได้ชัดประมาณ 1-2% ต่อปี ซึ่งอาจทำให้เริ่มเห็นริ้วรอยเล็ก ๆ หรือผิวหย่อนคล้อยในบางคน วัยนี้เหมาะสำหรับการเริ่มเสริมคอลลาเจนในรูปแบบอาหารเสริมหรือการใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่มีส่วนผสมของคอลลาเจน

ก่อนที่วัย 30 ปีขึ้นไป การผลิตคอลลาเจนในร่างกายลดลงมากถึง 25% ซึ่งอาจทำให้ผิวบางลงและสูญเสียความยืดหยุ่น การเสริมคอลลาเจนเป็นสิ่งสำคัญสำหรับวัยนี้ โดยอาจพิจารณาร่วมกับวิธีการทางการแพทย์ เช่น การฉีดคอลลาเจนหรือเลเซอร์กระตุ้นคอลลาเจน

หรืออาจกล่าวได้ว่าการเริ่มเสริมคอลลาเจนที่เหมาะสมคือช่วงอายุ 25-30 ปี เพื่อชะลอการสูญเสียคอลลาเจนตามธรรมชาติ แต่ถ้าอายุยังน้อย ควรเน้นการดูแลผิวและรับประทานอาหารที่ช่วยกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนตามธรรมชาติก่อน หากเข้าสู่วัย 30-40 ปีขึ้นไป การเสริมคอลลาเจนในรูปแบบอาหารเสริมหรือวิธีทางการแพทย์จะเป็นตัวช่วยที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

3. คอลลาเจนชนิดไหนที่เหมาะสำหรับคนที่อายุมากกว่า 30 ปี?

สำหรับผู้ที่อายุ 30 ปีขึ้นไป การเลือกคอลลาเจนให้เหมาะสมเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะร่างกายเริ่มผลิตคอลลาเจนลดลง ทำให้ผิวหนังและข้อต่อเสื่อมสภาพได้ง่ายขึ้น โดยคอลลาเจนชนิดที่เหมาะสำหรับผู้ที่อายุ 30 ปีขึ้นไป มีดังนี้

  • คอลลาเจนไฮโดรไลซ์ (Hydrolyzed Collagen) เป็นคอลลาเจนที่ผ่านกระบวนการย่อยสลายโมเลกุลให้มีขนาดเล็ก ทำให้ร่างกายดูดซึมได้ง่าย เหมาะสำหรับผู้เริ่มต้นหรือผู้ที่มีปัญหาเรื่องการย่อยอาหาร
  • คอลลาเจนไทป์ II (Collagen Type II) เป็นคอลลาเจนที่พบมากในกระดูกอ่อน ช่วยบำรุงข้อต่อและลดอาการปวดข้อ เหมาะสำหรับผู้ที่มีปัญหาข้อเข่าเสื่อม หรือปวดข้อ
  • คอลลาเจนทะเล (Marine Collagen) สกัดจากปลาทะเลน้ำลึก มีโมเลกุลขนาดเล็ก ดูดซึมง่าย และมีสารอาหารอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อผิวหนัง เช่น โอเมก้า 3

นอกจากนี้ผู้ที่อายุ 30 ปีขึ้นไปอาจเลือกรับประทานคอลลาเจนแบบผสม (Collagen Complex) ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผสมคอลลาเจนหลายชนิด เช่น ชนิด I, II, III หรืออาจมีการเสริมสารอาหารอื่น ๆ เข้ามาด้วย เช่น วิตามินซี, ไฮยาลูรอนิก แอซิด หรือซิงก์ การรับประทานคอลลาเจนแบบผสม จะช่วยดูแลทั้งผิวพรรณและสุขภาพข้อต่อในเวลาเดียวกัน

สรุปเกี่ยวกับคอลลาเจน

คอลลาเจนเป็นโปรตีนสำคัญที่ช่วยให้ผิวหนัง กระดูก และข้อต่อแข็งแรง เมื่ออายุมากขึ้น ร่างกายผลิตคอลลาเจนลดลง ทำให้เกิดริ้วรอย ผิวหย่อนคล้อย ไม่กระชับ นอกจากนี้แล้วยังส่งผลต่อความแข็งแรงของข้อต่อด้วย การทานอาหารเสริมคอลลาเจนและการฟื้นฟูผิวให้แข็งแรงตั้งแต่เนิ่น ๆ จะช่วยให้ผิวเต่งตึง เปล่งปลั่ง ลดโอกาสในการเกิดริ้วรอยลงได้ นอกจากนี้แล้วการดูแลสุขภาพผิวด้วยอาหารที่มีประโยชน์และการปกป้องผิวจากแสงแดดจะช่วยรักษาคอลลาเจนในร่างกายได้ยาวนานขึ้น

ถ้ายังไม่มั่นใจว่าควรดูแลผิวด้วยวิธีใด สามารถติดต่อเข้ามาที่ Better Me Clinic by Dr. Chanya เพื่อให้คุณหมอประเมินสภาพผิวและแนะนำหัตถการที่เหมาะสมแบบเคสบายเคสได้เลย ติดต่อนัดหมายได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 02-059-8118, 088-603-2641 หรือไลน์ @bettermeclinic ปรึกษาคุณหมอฟรี! ไม่มีค่าใช้จ่าย รับรองว่าคุณจะมีผิวสวย ๆ กลับบ้านไปอย่างแน่นอน!

  • Collagen. (2022, May 23). Cleveland Clinic. https://my.clevelandclinic.org/health/articles/23089-collagen 
  • Kubala, J. (2023, December 5). What Is Collagen, and What Is It Good For?. Healthline. https://www.healthline.com/nutrition/collagen 
  • ดร.ฉัตรภา หัตถโกศล. (24 พฤศจิกายน 2567). รู้ลึก รู้ชัด กับ “คอลลาเจน”. วันดีดี. https://www.rama.mahidol.ac.th/atrama/sites/default/files/public/pdf/column/@Rama5_E09.pdf

เว็บไซต์นี้ มีการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ (Cookies) เพื่อมอบบริการที่ดีที่สุดสำหรับคุณ