ขั้นตอนลงสกินแคร์ที่ถูกต้อง ใช้สกินแคร์ยังไงให้เห็นผล!
ใช้สกินแคร์ยังไงก็ไม่เห็นผล หนึ่งปัญหาที่เสียทั้งเงินทั้งเวลา แต่รู้หรือไม่ว่าปัญหานี้แก้ไขได้ง่ายๆ ด้วยการทำความเข้าใจกับ “ขั้นตอนการลงสกินแคร์”
บทความนี้ Better Me Clinic จะพาทุกคนไปเจาะลึกเคล็ดลับการใช้สกินแคร์ให้เกิดผลลัพธ์สูงสุด ตั้งแต่การทำความเข้าใจกับเนื้อสัมผัสของผลิตภัณฑ์ การเลือกใช้สกินแคร์ให้เหมาะกับสภาพผิว พร้อมแจกโพยสกินแคร์ที่ต้องมี! ถ้าพร้อมที่จะมีผิวสุขภาพดีแล้ว ก็มาเรียนรู้ไปพร้อมกันได้เลย!
สกินแคร์คืออะไร?
สกินแคร์ (Skincare) คือ ผลิตภัณฑ์บำรุง ดูแล และฟื้นฟูสภาพผิวในส่วนต่างๆ ทั้งผิวหน้าและผิวกาย โดยสกินแคร์แต่ละชนิดมักมีหน้าที่เฉพาะ และมีคุณสมบัติในการบำรุงที่แตกต่างกันออกไป ตั้งแต่การช่วยเพิ่มความชุ่มชื้น ความกระจ่างใส ไปจนกระทั่งการรักษาปัญหาผิวบางประเภท
สกินแคร์จึงนับเป็นกุญแจสำคัญของการมีผิวสุขภาพดี เพราะนอกจากจะมีหน้าที่สำคัญในการบำรุงผิวแล้ว การใช้สกินแคร์เป็นประจำยังช่วยให้ผิวแข็งแรงขึ้นจนยากที่จะเกิดการรบกวนจากสิ่งสกปรกหรือมลภาวะต่างๆ ช่วยลดโอกาสที่จะเกิดปัญหาผิวที่ไม่พึงประสงค์ได้อย่างเห็นผล
สกินแคร์มีประโยชน์อย่างไร?
ประโยชน์ของสกินแคร์สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม ตามคุณสมบัติของสกินแคร์แต่ละประเภท ดังนี้
1. ปกป้องผิว
รังสียูวีที่อยู่ในแสงแดด มีอนุภาคทะลุทะลวงที่สามารถทะลุผ่านผิวเข้าไปได้ลึกถึงชั้นหนังแท้จนทำให้ผิวสูญเสียความยืดหยุ่น และทำให้ผิวหนังบางลงได้โดยที่เราไม่รู้ตัว
ในทางการแพทย์จึงมีการพัฒนาสกินแคร์ที่มีส่วนผสมของสารกันแดดขึ้นมา โดยมักมีส่วนผสมของซิงค์ออกไซด์ (Zinc Oxide) ไทเทเนียมไดออกไซด์ (Titanium Dioxide) และเจนิสไตน์ (Genistein) ซึ่งมีคุณสมบัติสำคัญในการปกป้องผิวจากแสงแดด ช่วยลดโอกาสที่จะเกิดฝ้า กระ ริ้วรอย และผิวที่หมองคล้ำได้
ถ้าหากมีการใช้ครีมกันแดดร่วมกับสกินแคร์ที่มีส่วนผสมของสารต้านอนุมูลอิสระ ก็จะยิ่งช่วยป้องกันการเกิดปัญหาผิวที่มีสาเหตุมาจากแสงแดดได้ถึงสองเท่า รวมทั้งยังสามารถปกป้องผิวจากสารอนุมูลอิสระอื่นๆ ในสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นฝุ่น ควัน หรือมลพิษได้อีกด้วย
2. บำรุงผิว
สกินแคร์ที่มีคุณสมบัติในการบำรุงผิว ส่วนมากแล้วมักมีส่วนผสมของไฮยาลูรอน (Hyaluronic Acid) และกลีเซอรีน (Glycerin) ซึ่งมีหน้าที่ดูดซับน้ำให้แก่ผิวหนัง ช่วยให้ผิวชุ่มชื้น เนียนนุ่ม ดูสุขภาพดี และเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกราะป้องกันผิวแข็งแรง ลดการเกิดปัญหาผิวได้อย่างครอบคลุม ไม่ว่าจะเป็นจุดด่างดำ ผิวแพ้ง่าย สิว ผด ริ้วรอยแห่งวัย และการมีสภาพผิวที่แห้งหรือมันมากเกินไป
3. รักษาปัญหาผิว
สกินแคร์กลุ่มนี้มักคุณสมบัติและส่วนผสมที่แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการใช้ เช่น
- สกินแคร์ที่มีส่วนผสมของวิตามินซี มักใช้ในการลดเลือนจุดด่างดำ ผิวหมองคล้ำ ช่วยให้ผิวดูกระจ่างใสขึ้น
- สกินแคร์ที่มีส่วนผสมของเรตินอล กระตุ้นการสร้างเซลล์ผิวใหม่ ไปพร้อมๆ กับการฟื้นฟูเซลล์ผิวเดิมที่เสื่อมสภาพลง ช่วยให้ริ้วรอยดูจางลง
- สกินแคร์ที่มีส่วนผสมของซิงค์ มีฤทธิ์เป็นยาปฏิชีวนะอ่อนๆ มีคุณสมบัติในการช่วยลดการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย และความมันบนใบหน้า ทำให้โอกาสในการเกิดสิวลดลง
- สกินแคร์ที่มีส่วนผสมของเมทอล ที่ให้ความรู้สึกเย็น หลังใช้จึงช่วยลดอาการคันได้
เนื้อสัมผัสของสกินแคร์มีกี่ประเภท?
สกินแคร์สามารถแบ่งเนื้อสัมผัสออกได้เป็น 5 ประเภท ดังนี้
- เอสเซนส์ (Essence) หรือที่หลายคนมักเรียกกันอย่างชินปากว่า “น้ำตบ” สกินแคร์ชนิดนี้เป็นสกินแคร์ที่มีเนื้อสัมผัสเบาบางที่สุดเพราะมีน้ำเป็นองค์ประกอบหลัก (Water Base) ทำให้ซึมซับลงสู่ผิวได้อย่างรวดเร็ว สามารถนำสารบำรุงลงสู่ผิวได้ง่ายกว่าเนื้อสัมผัสอื่นๆ และมักถูกนำมาใช้ในการเตรียมผิวก่อนเริ่มบำรุงในขั้นต่อๆ ไป
- เซรั่ม (Serum) เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีน้ำเป็นองค์ประกอบหลัก โดยเนื้อของเซรั่มนั้นมีหลายรูปแบบ ตั้งแต่เหลวคล้ายน้ำตบ ไปจนถึงเข้มข้นจนมีลักษณะกึ่งเหลว อย่างไรก็ตาม เซรั่มจะยังคงให้สัมผัสที่บางเบาและซึมซับสู่ผิวได้ง่ายอยู่ โดยเซรั่มจะมีสารออกฤทธิ์ (Active Ingredients) สูงกว่าผลิตภัณฑ์บำรุงเนื้ออื่นๆ ทำให้มีประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาผิวแม้จะใช้ผลิตภัณฑ์เพียงเล็กน้อย
- เจล (Gel) ถูกผลิตขึ้นจากสารที่มีคุณสมบัติดูดซับน้ำได้ดี ทำให้สกินแคร์ชนิดนี้มักถูกนำมาใช้ในการให้ความชุ่มชื้นแก่ผิว ลดปัญหาผิวแห้งกร้าน ผิวขาดน้ำ โดยผลิตภัณฑ์เนื้อเจลจะให้สัมผัสที่บางเบา ซึมง่าย และไม่ก่อให้เกิดการระคายเคือง
- โลชั่น (Lotion) เป็นผลิตภัณฑ์ที่ประกอบไปด้วยน้ำและน้ำมัน ในสัดส่วนที่มีน้ำมากกว่า ทำให้มีเนื้อสัมผัสที่เบาสบายผิว แต่อาจจะซึมลงสู่ผิวได้ยากกว่าสกินแคร์เนื้อสัมผัสที่กล่าวมาข้างต้น เนื่องจากโลชั่นมีส่วนผสมของน้ำมันด้วย
- ครีม (Cream) เป็นผลิตภัณฑ์ที่ประกอบไปด้วยน้ำและน้ำมันในสัดส่วนที่มีน้ำมันมากกว่า โดยอาจมีการใส่สารไขแข็ง (Wax) และไขมันเพื่อเพิ่มความหนืดให้กับผลิตภัณฑ์ ทำให้ครีมจึงมีคุณสมบัติในการเคลือบผิวและป้องกันการเสียความชุ่มชื้นของผิวได้ดีที่สุด
วิธีเลือกใช้สกินแคร์ให้เหมาะกับผิว
สภาพผิวของคนเราสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ลักษณะ ได้แก่ ผิวปกติ ผิวแห้ง ผิวมัน และผิวผสม ถึงแม้การใช้สกินแคร์จะมีคุณสมบัติในการแก้ปัญหาผิวอยู่แล้ว แต่การใช้สกินแคร์ที่เหมาะกับสภาพผิวจะยิ่งเพิ่มประสิทธิภาพ ทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงหลังใช้ได้รวดเร็วมากขึ้น
โดยแต่ละสภาพผิวจะมีความเหมาะสมกับการใช้สกินแคร์ที่แตกต่างกันไป ดังนี้
1. ผิวปกติ (Normal Skin)
ผิวปกติ คือ สภาพผิวที่ดีและแข็งแรงมากที่สุด เนื่องจากผิวอยู่ในภาวะสมดุล ทำให้ไม่มีความแห้งและความมันมากจนเกินไป โดยคนที่มีผิวแบบนี้ควรเลือกใช้สกินแคร์ที่ช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงและเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิว โดยอาจเลือกใช้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีเนื้อสัมผัสแบบเซรั่มหรือเจล เนื่องจากมีความบางเบา ซึมลงสู่ผิวได้ง่าย ช่วยลดโอกาสที่จะเกิดการอุดตันของรูขุมขน
2. ผิวแห้ง (Dry Skin)
ผิวแห้ง มักเป็นสภาพผิวที่เกิดจากผิวขาดน้ำจนเสียความชุ่มชื้นไป โดยผู้ที่มีผิวแห้งมักจะมีผิวที่ไม่เรียบเนียนและมีผิวหมองคล้ำ หากผิวแห้งมากๆ อาจทำให้ผิวลอกเป็นขุยและเกิดการระคายเคืองได้
คนที่มีผิวแห้งจึงเหมาะกับการใช้สกินแคร์ที่มีความเข้มข้นมาก อย่างผลิตภัณฑ์ที่มีเนื้อสัมผัสแบบโลชั่นหรือครีม เนื่องจากสามารถป้องกันและให้ความชุ่มชื้นกับผิวได้มากกว่าสกินแคร์เนื้อสัมผัสอื่น
นอกจากนี้ ผู้ที่มีผิวแห้งควรมองหาผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบหลักเป็นสารไฮยาลูรอนิกและเซราไมด์ เพราะเป็นสารที่มีคุณสมบัติในการกักเก็บความชุ่มชื้น ช่วยให้เกราะป้องกันผิวแข็งแรงขึ้น รวมทั้งยังช่วยสมานผิวที่แห้งลอกเข้าด้วยกันโดยไม่ก่อให้เกิดความระคายเคืองอีกด้วย
โดยสกินแคร์ที่คนผิวแห้งควรหลีกเลี่ยง คือ สกินแคร์ที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ น้ำหอม เพราะอาจทำให้เกิดการระคายเคืองและผื่นคันได้
3. ผิวมัน (Oily Skin)
ผิวมัน คือ ผิวที่อยู่ในภาวะขาดความชุ่มชื้น ทำให้ร่างกายผลิตน้ำมันออกมาเพื่อทดแทนความชุ่มชื้นที่เสียไปมากกว่าปกติ โดยผู้ที่มีผิวลักษณะนี้มักจะมีผิวที่มันวาว รูขุมขนกว้าง รวมถึงมีโอกาสในการเกิดสิวและเกิดการอุดตันของรูขุมขนได้ง่ายกว่าผิวลักษณะอื่นๆ
คนที่มีผิวมันจึงเหมาะกับการใช้สกินแคร์ที่มีเนื้อสัมผัสบางเบาและมีน้ำเป็นองค์ประกอบหลัก อย่างเอสเซนส์ เซรั่ม หรือเจล เพราะให้สัมผัสที่เบาสบาย ไม่เหนอะหนะ และไม่ทิ้งความมันไว้บนใบหน้า อีกทั้งยังไม่ก่อให้เกิดการอุดของรูขุมขน
นอกจากนี้ ผู้ที่มีผิวมันก็ควรมองหาผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของเรตินอล กรดอัลฟาไฮดรอกซี (AHA) กรดเบต้าไฮดรอกซี (BHA) และไนยาซินนาไมด์ ที่มีคุณสมบัติลดการผลิตน้ำของต่อมไขมันด้วย เพื่อช่วยให้ความมันบนใบหน้าลดลง กระตุ้นการสร้างเซลล์ผิวใหม่ และช่วยให้ผิวอิ่มฟู แลดูกระชับมากขึ้น
โดยสกินแคร์ที่คนผิวมันควรหลีกเลี่ยง คือ สกินแคร์ที่มีส่วนผสมของน้ำมัน เพราะน้ำมันจากผลิตภัณฑ์อาจไปสะสมกับสิ่งตกค้าง จนเกิดการอุดตันบริเวณรูขุมขนซึ่งเป็นต้นเหตุของการเกิดสิวได้
4. ผิวผสม (Combination Skin)
ผิวผสม คือ ลักษณะของผิวที่มีการผสมกันระหว่างผิวแห้งกับผิวมัน ซึ่งส่วนใหญ่มักจะมีผิวมันบริเวณ T-zone และมีผิวแห้งบริเวณหน้าแก้ม ทำให้ผู้ที่มีสภาพผิวรูปแบบนี้จึงควรเลือกใช้สกินแคร์ให้เหมาะกับสภาพผิวแต่ละส่วน เช่น การใช้สกินแคร์ที่มีน้ำมันเป็นส่วนประกอบหลักบริเวณที่มีผิวแห้ง และใช้สกินแคร์ที่มีน้ำเป็นส่วนประกอบหลักบริเวณที่มีผิวมัน
สกินแคร์พื้นฐานที่ควรมี
ในผู้ที่อยากเริ่มต้นเข้าสู่วงการสกินแคร์แต่ไม่รู้จะเริ่มจากอะไร Better Me Clinic ขอแนะนำให้เริ่มจากการใช้มอยเจอร์ไรเซอร์ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์มีส่วนประกอบหลักอย่างสารฮิวเมกแทนท์ (Humectants) และสารให้ความนุ่มลื่น (Emollients) ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นและกักเก็บน้ำให้กับผิว ทำให้ผิวอยู่ในภาวะสมดุล ผิวหน้าแข็งแรง ลดอาการผิวแห้ง ขาดน้ำ หน้ามัน รวมถึงลดโอกาสในการเกิดสิวและริ้วรอยต่างๆ ได้
นอกจากนี้ อีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่ทุกคนไม่ควรละเลย คือ ครีมกันแดด เนื่องจากรังสียูวีในแสงแดดจะไปกระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาออกซิเดชั่น (Oxidation) ทำให้ผิวเกิดการอักเสบและเกิดปัญหาผิวอื่นๆ ตามมา
ในผู้ที่ใช้สกินแคร์เป็นประจำแต่ไม่ได้ป้องกันผิวด้วยครีมกันแดด อาจทำให้ประสิทธิภาพของสกินแคร์ลดลงจนสังเกตเห็นผลลัพธ์ได้ยาก
ลำดับการลงสกินแคร์
ขั้นตอนในการลงสกินแคร์นับเป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากการเรียงลำดับขั้นตอนที่ถูกต้องจะช่วยให้ผลิตภัณฑ์ซึมเข้าสู่ผิวได้ดี และเมื่อใช้อย่างต่อเนื่องก็จะสามารถสังเกตเห็นผลลัพธ์ได้อย่างชัดเจน
ก่อนที่จะเริ่มลงสกินแคร์ สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญไม่แพ้กันคือการทำความสะอาดผิวหน้า โดยการทำความสะอาดผิวหน้าที่ถูกต้องจะเริ่มจากการใช้เมคอัพรีมูฟเวอร์เช็ดเครื่องสำอางออกให้มากที่สุด ก่อนที่จะล้างหน้าเพื่อขจัดเครื่องสำอางที่ตกค้างอยู่ด้วยคลีนเซอร์ เพียงเท่านี้ก็สามารถเข้าสู่ขั้นตอนการลงสกินแคร์ได้แล้ว
แต่ถ้าหากอยากให้ใบหน้าสะอาดหมดจดอีกขั้น อาจใช้โทนเนอร์เช็ดบริเวณใบหน้าอีกครั้งเพื่อเป็นการกำจัดสิ่งสกปรกขั้นสุดท้าย อีกทั้งยังเป็นการปรับสภาพผิว เปิดรูขุมขน เพื่อให้ผิวพร้อมต่อการบำรุงขั้นต่อไป
ลำดับการใช้สกินแคร์จะเริ่มจากการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีความเข้มข้นน้อยไปมาก อาจเริ่มจากการใช้เอสเซนส์ 3-4 หยด ตบลงบนผิวเพื่อกระตุ้นการไหลเวียนเลือด ก่อนจะใช้เซรั่มเพื่อฟื้นฟูและแก้ไขปัญหาผิวเฉพาะจุด จากนั้นใช้เจลเพื่อคงความชุ่มชื้นให้กับผิว ก่อนจะปิดท้ายด้วยโลชั่นและครีมตามลำดับ
ตัวช่วยดูแลผิวนอกเหนือจากสกินแคร์
การใช้สกินแคร์นั้นเป็นวิธีการดูแลผิวที่ยั่งยืน ช่วยให้ผิวแข็งแรง และช่วยให้ผิวอ่อนเยาว์ได้ในระยะยาว แต่ทั้งนี้การใช้สกินแคร์อาจไม่ตอบโจทย์สำหรับผู้ที่ต้องการเห็นผลลัพธ์อย่างรวดเร็ว หากต้องการกู้ผิวให้มีสุขภาพดีขึ้นอย่างเร่งด่วน การทำหัตถการต่างๆ ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจ
โดย Better Me Clinic ได้คัดเลือกหัตถการที่ช่วยดูแลและฟื้นฟูผิวอย่างล้ำลึก รวมถึงสามารถสังเกตเห็นผลลัพธ์ได้อย่างรวดเร็วมาแนะนำ ดังนี้
- เอ็กโซโซม (Exosome) เป็นกระบวนการฉีดเมโสที่พัฒนามาจากการฉีดสเต็มเซลล์ ตัวยาของเอ็กโซโซมจะอุดมไปด้วยสารประกอบทางชีวเคมีที่สำคัญต่อเซลล์มากกว่า 1,000 ชนิด เมื่อตัวยาถูกฉีดเข้าสู่ผิวก็จะช่วยฟื้นฟูและแก้ปัญหาผิวต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังดูแลผิวได้ลึกถึงระดับยีน
- เมโสชาแนล (Meso Chanel) เป็นการฉีดสารสกัดในกลุ่มไฮยาลูรอนิกแอซิดแบบโมเลกุลเดี่ยวที่ผสมผสานกับสารสกัดบำรุงผิวต่างๆ เช่น วิตามิน แร่ธาตุ หรือสารต้านอนุมูลอิสระ ที่มาในรูปแบบสารน้ำเข้าไปในผิว ช่วยให้ผิวชุ่มชื้นและกระจ่างใสมากยิ่งขึ้น
- รีจูรัน (Rejuran) เป็นการฉีดวิตามินและสารสกัดหลากหลายชนิดที่มีประโยชน์ต่อผิว โดยสารสกัดเด่น คือ สารพอลินิวคลีโอไทด์ ที่สกัดมาจากดีเอ็นเอของปลาแซลมอน ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับดีเอ็นเอของมนุษย์มาก ช่วยให้ผิวแข็งแรง ชุ่มชื้น รวมถึงช่วยให้ผิวดูฉ่ำวาวขึ้นอีกด้วย
- เลเซอร์หน้าใส เป็นการยิงพลังงานเลเซอร์เข้าไปที่เม็ดสีเมลานิน ทำให้เม็ดสีแตกตัวออกก่อนที่เม็ดเลือดขาวจะเข้ามากำจัดของเสียและขับสารเหล่านั้นออกจากร่างกาย เหมาะสำหรับผู้ที่มีปัญหาผิวหมองคล้ำ ผิวบาง มีริ้วรอย และผิวหย่อนคล้อย
- ทรีตเมนต์ผิว (Treatment) เป็นหนึ่งวิธีเติมสารอาหารให้กับผิวหน้าโดยตรงผ่านเทคนิคต่างๆ มีสูตรให้เลือกอย่างหลากหลายเพื่อแก้ปัญหาผิวตามความต้องการของผู้รับบริการ ซึ่งถ้าหากยังไม่แน่ใจว่าควรทำทรีตเมนต์สูตรไหนดี? Better Me Clinic ขอแนะนำ Golden Treatment ทรีตเมนต์ที่มีส่วนผสมของทองคำ ช่วยกระตุ้นสร้างคอลลาเจน ทำให้ผิวกระจ่างใส กระชับรูขุมขน เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการฟื้นฟูผิวอย่างล้ำลึก
ดูแลผิวอย่างเร่งด่วนที่ไหนดี?
จะเห็นได้ว่าขั้นตอนการลงสกินแคร์นั้นไม่ยุ่งยาก เพียงแต่จะต้องมีการลำดับขั้นตอนอย่างถูกต้องเพื่อให้ผลิตภัณฑ์ซึมซับลงสู่ผิวได้เต็มที่และเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งการใช้สกินแคร์อาจใช้เวลาอย่างน้อยประมาณ 1-2 เดือนถึงจะเริ่มสังเกตเห็นผลลัพธ์ได้
แต่ถ้าหากคุณกำลังมองหาสถานที่ในการดูแลผิวอย่างเร่งด่วน ให้ Better Me Clinic by Dr. Chanya เป็นหนึ่งในทางเลือก เพราะเรามีบริการดูแลผิวให้เลือกอย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการเลเซอร์หน้าใส การฉีดเมโส หรือการทำทรีตเมนต์พร้อมฉายแสง LED ทุกบริการเราให้บริการโดยแพทย์ผู้ชำนาญการเท่านั้น
หากยังไม่มั่นใจว่าควรเลือกดูแลผิวด้วยวิธีใด สามารถติดต่อเข้ามาที่ Better Me Clinic by Dr. Chanya เพื่อให้คุณหมอประเมินสภาพผิวและแนะนำหัตการที่เหมาะสมแบบเคสบายเคสได้เลย หากสนใจ สามารถติดต่อนัดหมายได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 02-059-8118, 088-603-2641 หรือไลน์ @bettermeclinic ปรึกษาคุณหมอฟรี! ไม่มีค่าใช้จ่าย รับรองว่าคุณจะมีผิวสวยๆ กลับบ้านไปอย่างแน่นอน!
- Aquaplus, ทำความรู้จัก “เอสเซ้นส์บำรุงผิวหน้า” คืออะไร (https://aquaplus.co.th/what-is-essence/), 22 มีนาคม 2567.
- Bioderma, เซรั่ม (Serum) คืออะไร ประโยชน์ของซีรั่ม และวิธีใช้ (https://www.bioderma.co.th/your-skin/dry-skin/what-is-serum), 22 มีนาคม 2567.
- Cerave, โลชั่น vs ครีมทาผิว เลือกแบบไหนให้เหมาะกับผิวของคุณ(https://www.cerave.co.th/blog/lotion-vs-cream-for-your-skin), 22 มีนาคม 2567.
- Hellokhunmor, ครีมทาผิว มีประโยชน์อย่างไร และควรเลือกอย่างไรให้เหมาะกับผิว (https://hellokhunmor.com/สุขภาพผิว/การดูแลและทำความสะอาดผิว/ครีมทาผิว-มีประโยชน์อย่างไร-ควรเลือกอย่างไรให้เหมาะกับผิว/), 22 มีนาคม 2567.
- Skin Biotech Thai, ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับอิมัลชั่นหรือการผลิตครีม (http://www.skinbiotechthai.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=539373425), 22 มีนาคม 2567.
- Mesoestetic, ทำความเข้าใจพื้นฐานการดูแลผิวด้วย Skincare Routine ที่เหมาะสม(https://mesoestetic-th.com/skincare-routine/), 22 มีนาคม 2567.