สิวหิน ตุ่มใต้ตาเจ้าปัญหา รักษายากแต่รักษาได้!
สิวหิน เป็นหนึ่งในปัญหาผิวที่ทำให้ใครหลายคนรู้สึกกังวลและไม่มั่นใจ เพราะเมื่อเกิดขึ้นแล้ว ผิวบริเวณนั้นจะไม่เรียบเนียน แต่งหน้าอย่างไรก็ดูไม่สม่ำเสมอ ถึงแม้จะพยายามบำรุงผิวด้วยสกินแคร์มากแค่ไหน แต่ปัญหานี้ก็ไม่หายไปสักที
Better Me Clinic จึงจะพาทุกคนมาทำความรู้จักกับ “สิวหิน” ปัญหากวนใจของสาว ๆ หลายคน ตั้งแต่ต้นตอของการเกิดสิวหิน ไปจนถึงวิธีการรักษาสิวหินให้อยู่หมัด ใครที่กำลังเผชิญกับปัญหานี้อยู่ มาร่วมหาคำตอบได้ในบทความนี้เลย!
สิวหินคืออะไร?
สิวหิน (Syringoma) คือ ตุ่มเล็ก ๆ สีเหลืองหรือสีเนื้อ ขนาดประมาณ 1-3 มิลลิเมตร ลักษณะคล้ายกับสิวผด มักปรากฏขึ้นบริเวณรอบดวงตา โหนกแก้ม และจมูก ส่วนมากสิวหินมักจะพบได้บ่อยในชาวเอเชียทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะช่วงอายุ 25-40 ปี
หลายคนมักเข้าใจผิดว่าตุ่มเหล่านี้เป็นสิวทั่วไปเหมือนกับสิวชนิดอื่น ๆ แต่ความเป็นจริงแล้ว สิวหินเป็นเนื้องอกของต่อมเหงื่อ ซึ่งเป็นเนื้องอกชนิดที่ไม่อันตราย ไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวด และไม่มีโอกาสพัฒนาไปเป็นเนื้อร้ายอย่างมะเร็งได้
อย่างไรก็ตาม สิวหินอาจมีขนาดใหญ่ขึ้นได้ แต่การรักษาอย่างถูกวิธีจะช่วยลดความกังวลใจเกี่ยวกับสุขภาพและความงามได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สิวหินเกิดจากอะไร?
สิวหินเกิดจากเซลล์ภายในต่อมเหงื่อ (Eccrine Sweat Glands) มีการเจริญเติบโตและแบ่งตัวมากขึ้นผิดปกติ ทำให้เกิดการอุดตันขึ้นภายในต่อมเหงื่อจนกลายเป็นตุ่มเล็ก ๆ นูนขึ้นมาบนผิวหนัง
ส่วนสาเหตุที่ทำให้ต่อมเหงื่อเจริญเติบโตผิดปกติยังไม่มีสาเหตุที่แน่ชัด แต่คาดว่าปัจจัยเหล่านี้อาจมีส่วนทำให้เกิดสิวได้ เช่น
- พันธุกรรม ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นสิวหินจะมีโอกาสเกิดสิวหินได้มากขึ้น รวมถึงการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมหรือการกลายพันธุ์ (Mutation) ก็สามารถทำให้เกิดสิวหินได้เช่นกัน
- ฮอร์โมน ฮอร์โมนบางชนิด เช่น ฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) และฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) อาจกระตุ้นการเกิดสิวหินได้ เนื่องจากมีผลต่อการทำงานของต่อมเหงื่อและการผลิตน้ำมันที่ผิวหนัง หากฮอร์โมนเหล่านี้เปลี่ยนแปลงมาก ก็จะทำให้การทำงานของต่อมเหงื่อผิดปกติ
- โรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวานประเภท 2 อาจส่งผลต่อการทำงานของระบบประสาทที่ควบคุมการผลิตเหงื่อ ทำให้บางคนมีการผลิตเหงื่อมากเกินไป (Hyperhidrosis) หรือเหงื่อน้อยเกินไป (Anhidrosis) ซึ่งอาการผิดปกติเหล่านี้มักจะนำไปสู่การเกิดปัญหาผิวหนังได้
- การใช้ยาบางชนิด ยาบางชนิดอาจส่งผลต่อฮอร์โมนและการทำงานของต่อมเหงื่อ เช่น ยากลุ่ม Antidepressants และ Anxiolytics ที่เพิ่มการผลิตเหงื่อ นอกจากนี้ยากลุ่ม Opioids ก็อาจทำให้เกิดเหงื่อออกมากผิดปกติได้เช่นกัน โดยเฉพาะผู้ที่ใช้ยาในระยะยาวหรือในปริมาณสูง
- สภาพแวดล้อม โดยเฉพาะสภาพอากาศที่มีความร้อนและความชื้นสูง อาจกระตุ้นให้ต่อมเหงื่อทำงานมากขึ้น
- โรคผิวหนังบางชนิด เช่น โรคผิวหนังอักเสบ (Dermatitis) หรือกลุ่มอาการที่ทำให้เกิดการสะสมของเซลล์ผิวหนัง อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดสิวหินได้
สิวหินมักเกิดบริเวณใด?
สิวหินมักเกิดขึ้นบริเวณรอบดวงตาเป็นส่วนใหญ่ แต่ทั้งนี้ก็สามารถเกิดขึ้นในบริเวณอื่น ๆ ของร่างกายได้เช่นกัน โดยเฉพาะบริเวณที่มีการเสียดสีหรือเหงื่อออกมาก ดังนี้
- รอบดวงตา เป็นบริเวณที่พบสิวหินได้มากที่สุด สามารถเกิดได้ทั้งสิวหินบนเปลือกตาและสิวหินใต้ตา
- แก้มและขมับ สิวหินในบริเวณนี้มักพบได้ในผู้ที่มีผิวมัน เนื่องจากต่อมเหงื่อในบริเวณนี้ทำงานมากกว่าปกติ
- หน้าอกและลำคอ บริเวณนี้จะพบสิวหินได้น้อยกว่าบริเวณใบหน้าและลำคอ แต่สามารถเกิดขึ้นได้โดยเฉพาะผู้ที่มีเหงื่อออกมาก
- รักแร้ เป็นบริเวณที่มีเหงื่อออกมากอยู่แล้ว หากผิวระบายเหงื่อได้ไม่เพียงพอหรือเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองก็จะยิ่งกระตุ้นให้เกิดสิวหินได้ง่าย
- แขนและขา แม้ว่าจะพบได้น้อยกว่าบริเวณอื่น ๆ แต่สิวหินก็สามารถเกิดขึ้นที่บริเวณนี้ได้เช่นกัน โดยเฉพาะผู้ที่มีการเสียดสีหรือใช้ผลิตภัณฑ์ที่ก่อให้เกิดการระคายเคือง
นอกจากบริเวณที่กล่าวไปข้างต้น บริเวณที่ลับอย่างอวัยวะเพศก็สามารถเกิดสิวหินได้เช่นกัน เนื่องจากบริเวณนี้มีต่อมเหงื่อมากและมีผิวที่บอบบาง เพราะฉะนั้นจึงไม่ควรละเลยและควรได้รับการดูแลเป็นพิเศษ
สิวหินกับสิวข้าวสารแตกต่างกันอย่างไร?
สิวหิน (Syringoma) และ สิวข้าวสาร (Milia) หากมองเพียงผิวเผินอาจดูเหมือนเป็นสิวชนิดเดียวกัน เนื่องจากมีลักษณะเป็นตุ่มขนาดเล็กคล้ายกัน แต่จริง ๆ แล้ว สิวทั้งสองชนิดมีความแตกต่างกันหลายด้าน ดังนี้
1. สาเหตุและกลไกการเกิด
สิวหิน: เกิดจากการเจริญเติบโตผิดปกติของต่อมเหงื่อที่อยู่ลึกในชั้นหนังแท้ (Dermis) มักพบในช่วงอายุ 25-40 ปี และอาจสัมพันธ์กันกับภาวะบางอย่าง เช่น โรคเบาหวาน หรือภาวะดาวน์ซินโดรม
สิวข้าวสาร: เกิดจากการสะสมของเคราตินใต้ชั้นผิวหนัง (Epidermis) หลายคนมักเข้าใจว่าสิวข้าวสารคือสิวอุดตันหัวปิด แต่ความจริงแล้ว สิวที่เกิดขึ้นจะเกิดในชั้นผิวหนังที่ตื้นกว่ารูขุมขน ทำให้ไม่เกี่ยวข้องกับการอุดตันของรูขุมขนหรือการผลิตน้ำมันของต่อมไขมัน
2. ลักษณะทางกายภาพ
สิวหิน: มีลักษณะเป็นตุ่มเล็ก ๆ สีเนื้อหรือเหลืองอ่อน ขนาดประมาณ 1-3 มิลลิเมตร มักเกิดขึ้นทั้งสองซีกของร่างกายและรวมตัวกันเป็นกลุ่ม เมื่อเป็นแล้วผิวหนังบริเวณรอบ ๆ อาจนูนขึ้นเล็กน้อย
สิวข้าวสาร: มีลักษณะเป็นตุ่มเล็ก ๆ สีขาวหรือสีขาวนวล ขนาดประมาณ 1-2 มิลลิเมตร กระจายตามพื้นที่ต่าง ๆ โดยไม่รวมตัวกันเป็นกลุ่มเหมือนสิวหิน เมื่อเป็นแล้วผิวหนังบริเวณโดยรอบมักจะเรียบเนียนและไม่มีความผิดปกติอื่น ๆ
3. บริเวณที่พบบ่อย
สิวหิน: มักเกิดขึ้นในบริเวณที่มีต่อมเหงื่อหนาแน่น เช่น บริเวณรอบดวงตา, แก้ม, ขมับ, หน้าอก และลำคอ
สิวข้าวสาร: บริเวณที่เกิดสิวข้าวสารจะแตกต่างกันไปตามสาเหตุของการเกิดสิว เช่น สิวข้าวสารชนิดปฐมภูมิ เป็นชนิดที่พบได้บ่อยที่สุด มักเกิดขึ้นในบริเวณหน้าผากรวมถึงเปลือกตา และสิวข้าวสารแบบราบ มักเกิดในบริเวณรอบดวงตา หน้าแก้ม สันกราม และหลังใบหู
เนื่องจากสิวแต่ละชนิดมีสาเหตุและลักษณะทางกายภาพที่แตกต่างกัน ทำให้สิวทั้งสองชนิดมีวิธีการรักษาที่ต่างกันไปด้วย โดยสิวข้าวสารมักจะไม่จำเป็นต้องทำการรักษา เนื่องจากสามารถหายได้เองภายในไม่กี่สัปดาห์หรือหลายเดือน ในขณะที่สิวหินไม่สามารถหายเองได้และอาจกลับมาเป็นซ้ำ การพบแพทย์เพื่อหาแนวทางรักษาสิวหินจึงเป็นวิธีที่เหมาะสมที่สุด
สิวหินรักษาอย่างไรได้บ้าง?
สำหรับคนที่สงสัยว่า สิวหินรักษาอย่างไรได้บ้าง? โดยทั่วไปแล้ว การรักษาสิวหินนั้นสามารถทำได้หลายวิธี ขึ้นอยู่กับความรุนแรงและตำแหน่งที่เกิด โดยวิธีการรักษาสิวหินที่นิยม มีดังนี้
1. เลเซอร์ (Laser Therapy)
การเลเซอร์สิวหิน มักจะนิยมใช้เลเซอร์ชนิดที่ทำให้ผิวลอก (Ablative Laser Resurfacing) และเลเซอร์ชนิดที่ทำให้ผิวลอกเฉพาะส่วน (Fractionated Laser) เช่น เลเซอร์คาร์บอนไดออกไซด์ (Fractional CO2 Laser)
สำหรับเลเซอร์คาร์บอนไดออกไซด์ (Fractional CO2 Laser) เป็นเลเซอร์ที่มีช่วงความยาวคลื่น 10,600 นาโนเมตร ซึ่งมีความแม่นยำสูง ทำให้เหมาะสำหรับการรักษาสิวหินที่เป็นสิวขนาดเล็ก อีกทั้งยังไม่สร้างความเสียหายให้กับเนื้อเยื่อผิวหนังบริเวณข้างเคียง
หลังรับบริการเลเซอร์สิวหิน จะมีแค่สะเก็ดแผลขนาดเล็กที่เกิดขึ้นเท่านั้น ไม่มีเลือดออก วิธีนี้จึงถือว่าเป็นวิธีรักษาสิวหินที่ให้ผลลัพธ์ดี มีความปลอดภัย และใช้เวลาในการรักษาน้อย
2. จี้ด้วยไฟฟ้า (Electrosurgery)
การจี้สิวหินด้วยไฟฟ้า เป็นวิธีกำจัดสิวหินที่คล้ายคลึงกับการใช้เลเซอร์ เพียงแต่จะเปลี่ยนจากพลังงานเลเซอร์เป็นพลังงานไฟฟ้าแทน โดยความร้อนจากไฟฟ้าจะเข้าไปทำลายเนื้อเยื่อที่ผิดปกติและทำลายเส้นเลือดให้สิวหินฝ่อไป อย่างไรก็ตาม วิธีนี้มักเหมาะสำหรับการรักษาสิวหินที่มีขนาดเล็กเท่านั้น
3. ผลัดเซลล์ผิว
การผลัดเซลล์ผิวด้วยการใช้สารเคมี (Chemical Peeling) เป็นกระบวนการใช้สารเคมีที่มีฤทธิ์เป็นกรดอ่อน ๆ เช่น กรด AHA (Alpha Hydroxy Acids) กรด BHA (Beta Hydroxy Acid) หรือกรด TCA (Trichloroacetic Acid) เข้าไปกำจัดเซลล์ผิวที่เสื่อมสภาพให้หลุดออกและกระตุ้นการสร้างเนื้อเยื่อบริเวณหนังแท้
ที่ Better Me Clinic เรามีบริการผลัดเซลล์ผิวด้วยสูตร Acne Peeling เป็นการผลัดเซลล์ผิวที่เหมาะสำหรับผู้มีปัญหาสิวทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นสิวอักเสบ สิวอุดตัน สิวผด ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีสูตร Scar Peeling ที่ช่วยรักษารอยสิว ปรับผิวให้ดูเรียบเนียนกระจ่างใสขึ้นด้วย
4. การใช้ยา
การใช้ยารักษาสิวหิน เป็นทางเลือกหนึ่งที่ช่วยลดขนาดตุ่มหรือลดการเกิดสิวหินใหม่ได้ แม้ว่าการใช้ยาอาจไม่ได้มีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับการใช้เลเซอร์หรือการจี้ด้วยไฟฟ้า แต่ก็สามารถลดจำนวนสิวหินลงได้เช่นกัน โดยตัวยาที่ใช้ในการรักษาสิวหิน มีดังนี้
- ยากลุ่ม Retinoids เช่น Tretinoin หรือ Adapalene ยากลุ่มนี้ทำงานโดยการเร่งกระบวนการผลัดเซลล์ผิว ซึ่งจะช่วยลดการสะสมของเซลล์ที่ท่อนำเหงื่อและลดขนาดของสิวหิน นอกจากนี้ Retinoids ยังมีคุณสมบัติในการต้านการอักเสบและทำให้ผิวเรียบเนียนขึ้นด้วย
- ยากลุ่ม Alpha Hydroxy Acids (AHAs) เช่น กรด Glycolic หรือกรด Lactic ที่มีคุณสมบัติในการผลัดเซลล์ผิวที่ตายแล้ว จะช่วยทำให้ผิวเรียบเนียนและลดการเกิดสิวหินใหม่ได้ โดยการใช้ยาตัวนี้อย่างต่อเนื่องจะให้ผลลัพธ์คล้ายกับการทำ Chemical Peeling
- ยาปฏิชีวนะเฉพาะที่ เช่น Clindamycin หรือ Erythromycin อาจถูกนำมาใช้ในบางกรณีเพื่อลดการติดเชื้อเมื่อมีการอักเสบร่วมกับสิวหิน แม้ว่าจะไม่ใช่วิธีรักษาสิวหินโดยตรง แต่สามารถลดการอักเสบและทำให้ผิวเรียบเนียนขึ้นได้
- ยารับประทาน เช่น ยา Isotretinoin หรือยา Acitretin สามารถนำมาใช้ในการรักษาสิวหินได้ อย่างไรก็ตาม ยาสองชนิดนี้มีทั้งข้อห้ามและมีผลข้างเคียงที่รุนแรง การใช้ยาจึงควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกรเท่านั้น
นอกจากวิธีที่กล่าวไปข้างต้น ปัจจุบันยังมีอีกหลายวิธีที่สามารถรักษาสิวหินได้ เช่น การบำบัดด้วยความเย็น (Cryotherapy), การกรอผิวด้วยเกล็ดอัญมณี (Dermabrasion) และการผ่าตัด แต่วิธีเหล่านี้มักไม่ได้รับความนิยม เนื่องจากมีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดรอยแผลเป็นและติดเชื้อได้ง่ายกว่าวิธีอื่น ๆ
วิธีป้องกันไม่ให้เกิดสิวหิน
เนื่องจากสาเหตุของการเกิดสิวหินยังไม่แน่ชัด รวมถึงปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดสิวหินยังไม่สามารถควบคุมได้ เช่น พันธุกรรม หรือการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ดังนั้นการป้องกันสิวหินจึงอาจทำได้ยาก
อย่างไรก็ตาม การดูแลผิวให้สะอาดและหลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่ทำให้เกิดการระคายเคืองจะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดสิวหินได้ นอกจากนี้ การพบแพทย์ผิวหนังเพื่อรับคำปรึกษาและรักษาเป็นประจำก็จะช่วยลดโอกาสเกิดปัญหาสิวหินในอนาคตได้เช่นกัน
รักษาสิวหินที่ไหนดี?
จะเห็นได้ว่าสิวหินไม่สามารถหายเองได้ตามธรรมชาติ การเข้ารับบริการทางการแพทย์จึงเป็นทางเลือกที่เหมาะสมในการช่วยกำจัดสิวหินและแก้ไขปัญหาผิวหน้าไม่เรียบเนียนได้อย่างเห็นผล
หากคุณกำลังมองหาคลินิกในการรักษาสิว ให้ Better Me Clinic by Dr. Chanya เป็นหนึ่งในทางเลือก เพราะเรามีบริการแก้ปัญหาผิวให้เลือกหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการผลัดเซลล์ผิว การเลเซอร์สิวหิน ทุกหัตถการเราให้บริการโดยแพทย์ผู้ชำนาญเท่านั้น
หากยังไม่มั่นใจว่าควรรักษาสิวหินด้วยวิธีใด สามารถติดต่อเข้ามาที่ Better Me Clinic by Dr. Chanya เพื่อให้คุณหมอประเมินสภาพผิวและแนะนำหัตถการที่เหมาะสมแบบเคสบายเคสได้ สามารถติดต่อนัดหมายได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 02-059-8118, 088-603-2641 หรือไลน์ @bettermeclinic ปรึกษาคุณหมอฟรี! ไม่มีค่าใช้จ่าย รับรองว่าคุณจะมีผิวสวย ๆ กลับบ้านไปอย่างแน่นอน!
- All About Vision, Syringoma (https://www.allaboutvision.com/conditions/eyelid/syringoma/), 13 Aug 2024.
- Cleveland Clinic, Syringoma (https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/23321-syringoma), 13 Aug 2024.
- Web MD, Syringoma: Causes, Symptoms, and Treatment (https://www.webmd.com/skin-problems-and-treatments/syringoma-causes-treatment), 13 Aug 2024.
- HDmall, สิวหิน เกิดจากอะไร รวมข้อมูลเกี่ยวกับสิวหินที่หลายคนยังไม่รู้ (https://hdmall.co.th/blog/beauty/syringoma/), 13 สิงหาคม 2567.
- HDmall, เลเซอร์สิวหิน รักษาไว มั่นใจไร้กังวล (https://hdmall.co.th/c/syringoma), 13 สิงหาคม 2567.