fbpx

🔥FREE! Schedule a 3D Facial Design consultation with Dr.Chanya only this month 🇺🇸 🇰🇷 🔥

เซ็บเดิร์ม โรคผิวหนังเรื้อรังที่กวนใจใครหลายคน

เซ็บเดิร์ม โรคผิวหนังเรื้อรังที่กวนใจใครหลายคน
เซ็บเดิร์ม โรคผิวหนังเรื้อรังที่กวนใจใครหลายคน

เซ็บเดิร์ม ไม่ใช่แค่ปัญหาผิวหนังธรรมดา แต่เป็นโรคเรื้อรังที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ การรักษาเพื่อบรรเทาอาการและการดูแลผิวเพื่อป้องกันการเกิดโรคเซ็บเดิร์มจึงเป็นสิ่งสำคัญ 

บทความนี้ Better Me Clinic ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับโรคเซ็บเดิร์ม ทั้งสาเหตุการเกิด อาการของโรค เป็นเซ็บเดิร์มห้ามกินอะไร รวมถึงวิธีการดูแลและรักษามาให้แล้ว! จะมีวิธีไหนบ้าง? ติดตามได้ที่นี่!

เซ็บเดิร์มคืออะไร?

เซ็บเดิร์ม (Sebderm) หรือ เซ็บเดอร์มาไทติส (Seborrheic Dermatitis) คือภาวะผิวหนังอักเสบเรื้อรังที่พบได้บ่อย มักเกิดในบริเวณที่มีต่อมไขมันมาก เช่น หนังศีรษะ, ใบหน้า และส่วนบนของลำตัว โดยเมื่อมีอาการของโรคเซ็บเดิร์มจะทำให้ผิวหนังมีอาการแดง แสบ ลอก และอาจมีอาการคันร่วมด้วย ซึ่งความรุนแรงของอาการจากเซ็บเดิร์มจะแตกต่างกันไปในแต่ละคน

เซ็บเดิร์มเกิดจากอะไร?

ปัจจุบันสาเหตุของการเกิดโรคเซ็บเดิร์มยังไม่สามารถสรุปได้แน่ชัด แต่คาดว่าเป็นผลมาจากปัจจัยหลายอย่างผสานกัน โดยปัจจัยที่อาจทำให้เกิดโรคเซ็บเดิร์มได้ มีดังนี้

  • เชื้อยีสต์ Malassezia จุลชีพธรรมชาติบนผิวหนังที่อาศัยน้ำมันจากต่อมไขมัน โดยยีสต์ชนิดนี้ถ้าอยู่ในภาวะปกติจะไม่ส่งผลเสียแต่มีบทบาทสำคัญในการรักษาสมดุลของระบบนิเวศบนผิวหนัง แต่เมื่อใดที่เชื้อยีสต์นี้มีมากเกินไป ก็จะทำให้ผิวเสียสมดุล ผิวลอกเป็นขุยและกระตุ้นให้ผิวเกิดการอักเสบได้ โดยพบว่าผู้ป่วยเซ็บเดิร์มมักมียีสต์ชนิดนี้บนผิวมากเกินไป
  • การมีผิวมัน จะทำให้ร่างกายผลิตน้ำมันส่วนเกินออกมามากกว่าปกติ ซึ่งน้ำมันส่วนเกินเหล่านี้เองที่เป็นสาเหตุในการสร้างสภาพแวดล้อมต่อการเจริญเติบโตของเชื้อยีสต์ Malassezia ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของโรคเซ็บเดิร์ม และอาการอักเสบระคายเคืองบนผิว
  • ปัจจัยทางพันธุกรรม คนที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคเซ็บเดิร์มหรือโรคผิวหนังอื่น ๆ จะมีความเสี่ยงในการเกิดเซ็บเดิร์มมากกว่าคนทั่วไป นอกจากนี้ลักษณะผิวหนังหรือการผลิตไขมันก็อาจได้รับการถ่ายทอดมาทางพันธุกรรมด้วย
  • ระบบภูมิคุ้มกัน ปกติแล้วระบบภูมิคุ้มกันของเราจะทำหน้าที่ปกป้องร่างกายจากสิ่งแปลกปลอม แต่ในผู้ป่วยเซ็บเดิร์มระบบภูมิคุ้มกันอาจทำงานผิดปกติ ทำให้เข้าใจผิดว่าเชื้อรา Malassezia เป็นสิ่งแปลกปลอม จึงตอบสนองต่อเชื้อนี้รุนแรงเกินไป จนทำให้เกิดการอักเสบและผิวลอกเป็นขุย 
  • การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน เช่น แอนโดรเจนหรือโปรเจสเตอร์โรน โดยฮอร์โมนเหล่านี้มีบทบาทในการกระตุ้นให้ต่อมไขมันให้ผลิตน้ำมันส่วนเกินออกมามากขึ้น ทำให้เชื้อยีสต์ Malassezia เจริญเติบโตได้ดี พบได้ในวัยรุ่นและคุณแม่หลังคลอด

นอกจากนี้ ความเครียด สภาพอากาศที่ร้อนชื้น การใช้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่เหมาะกับสภาพผิว รวมถึงการดูแลสุขภาพโดยรวมไม่ดีพอ ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคเซ็บเดิร์มได้เช่นกัน

โดยอาการของโรคเซ็บเดิร์มเกิดได้กับคนทุกเพศทุกวัย โดยผู้ป่วยที่อายุที่สุดที่เคยพบโรคเซ็บเดิร์ม คือ ทารกแรกเกิด 2 เดือน ทำให้วงการแพทย์สรุปได้ว่าเมื่อเริ่มมีการสร้างต่อมไขมันขึ้นมา ผื่นก็สามารถกำเริบขึ้นได้เอง 

อาการของโรคเซ็บเดิร์ม

อาการของโรคเซ็บเดิร์มมีหลากหลาย ส่วนใหญ่จะเกิดในบริเวณที่มีต่อมไขมันจำนวนมาก เช่น หนังศีรษะ, ใบหน้า และส่วนบนของลำตัว โดยอาการอาจแตกต่างกันไปในแต่ละคน ขึ้นอยู่กับความรุนแรงและพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งอาการที่พบได้บ่อย ๆ มีดังนี้

  • ผิวหนังแดง (Erythema) ที่มีขอบเขตชัดเจน พบได้มากในบริเวณที่ผิวอักเสบและบริเวณที่มีต่อมไขมันมาก
  • ขุยลอก (Flaking) โดยเป็นขุยสีขาวหรือเหลือง หากเกิดบนหน้าจะสามารถสังเกตได้ชัดเจน โดยเฉพาะบริเวณ รอบจมูกและหัวคิ้ว แต่หากเกิดบริเวณหนังศีรษะลักษณะของขุยจะคล้ายกับรังแค ทำให้อาจเกิดความเข้าใจผิดได้
  • คัน (Itching) โดยระดับความคันจะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคเซ็บเดิร์ม อย่างไรก็ตามการเกาอาจทำให้อาการแย่ลง เพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อแบคทีเรียได้
  • ผิวมันเยิ้ม (Greasy Skin) บริเวณที่เกิดอาการมักดูเหมือนมีน้ำมันเคลือบบนผิวมากกว่าผิวบริเวณอื่น

นอกจากนี้แล้วในบางรายอาการจากโรคเซ็บเดิร์มอาจส่งผลต่อดวงตา ทำให้รู้สึกคันเปลือกตา เปลือกตาแดงและบวม อาจมีขี้ตาเหนียวติดที่ขอบตาตอนตื่นนอน และอาจมีสะเก็ดสีขาวหรือเหลือง ที่เรียกว่า “เกล็ดกระดี่” ติดอยู่ที่ขอบเปลือกตา ทำให้มองเห็นลำบากได้

โรคเซ็บเดิร์มคือโรคเรื้อรังที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่อาการของเซ็บเดิร์มสามารถควบคุมได้ด้วยการรักษาอย่างเหมาะสม หากอาการรุนแรงหรือมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนังเพื่อตรวจวินิจฉัยและวางแผนการรักษาเพิ่มเติม

เป็นเซ็บเดิร์มห้ามกินอะไร?

โรคเซ็บเดิร์มอาจถูกกระตุ้นหรือมีอาการรุนแรงขึ้นจากปัจจัยหลายประการ รวมถึงอาหารที่บริโภค แม้ว่าจะไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจนเกี่ยวกับอาหารที่ควรหลีกเลี่ยงเพื่อป้องกันอาการกำเริบของเซ็บเดิร์ม แต่การปรับเปลี่ยนอาหารบางอย่างอาจช่วยลดความเสี่ยงได้ ดังนี้

  • เป็นเซ็บเดิร์มห้ามกินอาหารที่มีน้ำตาลสูง เพราะการกินน้ำตาลมากเกินไปอาจส่งผลต่อการอักเสบในร่างกาย ซึ่งอาจทำให้อาการของโรคเซ็บเดิร์มแย่ลงได้
  • เป็นเซ็บเดิร์มห้ามกินอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง เพราะไขมันอิ่มตัวอาจส่งเสริมการอักเสบในร่างกาย จึงควรจำกัดการกินเนื้อแดงและนมที่มีไขมันสูง
  • เป็นเซ็บเดิร์มห้ามดื่มแอลกอฮอล์ เพราะการดื่มแอลกอฮอล์อาจส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกันและเพิ่มความเสี่ยงต่อการอักเสบ 

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าจะเป็นการบอกว่าห้าม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ห้ามกินตลอดชีวิต เพียงแต่เป็นการแนะนำให้ปรับเปลี่ยนอาหารเพื่อช่วยจัดการอาการของเซ็บเดิร์มได้ แต่ควรปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการก่อนทำการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้ได้คำแนะนำที่เหมาะสมกับสภาวะสุขภาพของคุณ

โรคเซ็บเดิร์มแตกต่างจากโรคผิวหนังชนิดอื่น ๆ อย่างไร?

หลายคนมักสับสนอาการของโรคเซ็บเดิร์มกับโรคผิวหนังอย่างอื่น เช่น รังแค, โรคสะเก็ดเงิน และโรคภูมิแพ้ผิวหนัง แต่แท้จริงแล้วโรคเซ็บเดิร์มมีความแตกต่างจากโรคผิวหนังชนิดอื่น ๆ ทั้งในแง่ของสาเหตุ อาการ และบริเวณที่เกิดอาการ โดยเราสามารถแยกเซ็บเดิร์มออกมาจากโรคผิวหนังอื่น ๆ ได้ด้วยการสังเกตจากอาการเหล่านี้

1. ความแตกต่างของเซ็บเดิร์มกับรังแค

เซ็บเดิร์มและรังแค (Dandruff) ถึงแม้จะมีอาการคล้ายคลึงกัน คือ มีขุยหรือสะเก็ดบนหนังศีรษะ แต่ก็มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน

โรคเซ็บเดิร์มคือโรคผิวหนังอักเสบที่เกิดจากการอักเสบของต่อมไขมันและการเจริญเติบโตของเชื้อรา ทำให้มีอาการคัน แดง และมีขุยสีเหลืองหรือขาวขนาดใหญ่และหนากว่ารังแค ขณะที่รังแคเกิดจากการผลัดเซลล์ผิวหนังเร็วเกินไป ทำให้มีขุยสีขาวเล็ก ๆ ปริมาณมากและมักไม่คันมากนัก

นอกจากนี้เซ็บเดิร์มอาจเกิดขึ้นได้ในบริเวณอื่น ๆ ของร่างกายที่มีต่อมไขมัน เช่น ใบหน้า, หลัง และลำตัว แต่รังแคจะพบเฉพาะบนหนังศีรษะ

2. ความแตกต่างของเซ็บเดิร์มกับโรคสะเก็ดเงิน

โรคเซ็บเดิร์มและโรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis) เป็นโรคผิวหนังที่มักสับสนกันได้ เนื่องจากมีอาการคล้ายคลึงกัน คือ มีผื่นแดงและสะเก็ด แต่สาเหตุและลักษณะของผื่นจะแตกต่างกัน

โดยโรคสะเก็ดเงินเกิดจากระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติ ทำให้เซลล์ผิวหนังสร้างใหม่เร็วเกินไป ผื่นของโรคสะเก็ดเงินจึงมีลักษณะหนากว่าผื่นของโรคเซ็บเดิร์ม รวมทั้งมีอาการแดง และมีสะเก็ดสีเงินร่วมด้วย สามารถพบได้มากตามข้อต่อ ข้อศอก หัวเข่า และหนังศีรษะ

ปรึกษาหมอชัญญาโดยตรง
ปรึกษาหมอชัญญาโดยตรง

3. ความแตกต่างของเซ็บเดิร์มกับโรคผิวหนังภูมิแพ้

โรคเซ็บเดิร์มและโรคผิวหนังภูมิแพ้ (Atopic Dermatitis) ถึงแม้จะมีอาการคล้ายคลึงกัน คือ มีผื่นแดงและคัน แต่สาเหตุและลักษณะของผื่นจะแตกต่างกัน

โดยโรคผิวหนังภูมิแพ้ เกิดจากปฏิกิริยาของระบบภูมิคุ้มกันต่อสารก่อภูมิแพ้ ทำให้เกิดผื่นแดง คัน บวม อาจมีตุ่มน้ำใส และมักพบตามบริเวณที่สัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้นั้นๆ นอกจากนี้ โรคผิวหนังภูมิแพ้มักมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น น้ำมูกไหล, คัดจมูก หรือตาแดง ซึ่งแตกต่างจากอาการของโรคเซ็บเดิร์มที่จะจำเพาะเจาะจงอยู่ที่ผิวหนังส่วนใหญ่

วิธีรักษาเซ็บเดิร์ม

โรคเซ็บเดิร์มเป็นโรคผิวหนังเรื้อรังที่ยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ปัจจุบันจึงมีเพียงการรักษาเพื่อบรรเทาความรุนแรงแรงของอาการลงเท่านั้น โดยสามารถรักษาเซ็บเดิร์มได้ด้วยวิธีต่าง ๆ เหล่านี้

1. การรักษาเซ็บเดิร์มด้วยยาใช้ภายนอก

เนื่องจากโรคเซ็บเดิร์มมีสาเหตุมาจากการเจริญเติบโตที่ผิดปกติของเชื้อยีสต์ Malassezia ทำให้การรักษาเซ็บเดิร์มจะเน้นไปที่การลดการสร้างเชื้อยีสต์ ร่วมกับการบรรเทาอาการอักเสบของผิวหนัง ถ้าต้องการรักษาเซ็บเดิร์มด้วยยาใช้ภายนอก อาจมองเห็นตัวยาเหล่านี้

  • ยากลุ่มเซเลเนียม ซัลไฟด์ (Selenium Sulfide) ยากลุ่มนี้มีฤทธิ์ในการต้านเชื้อรา ช่วยลดการเจริญเติบโตของเชื้อรา Malassezia ที่เป็นสาเหตุสำคัญของเซ็บเดิร์ม นอกจากนี้ยังช่วยลดการอักเสบและลอกของผิวหนัง ทำให้อาการคันและสะเก็ดลดลง มักใช้ในรูปแบบของแชมพูสำหรับหนังศีรษะและครีมสำหรับผื่นที่ใบหน้า
  • ยากลุ่มคีโตโคนาโซล (Ketoconazole) ยากลุ่มนี้ก็มีฤทธิ์ในการต้านเชื้อราเช่นกัน โดยจะไปยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อรา Malassezia ทำให้ลดการอักเสบและการลอกของผิวหนัง มักใช้ในรูปแบบของแชมพู ครีม และโลชั่น
  • ยากลุ่มคอติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroid) ยากลุ่มนี้มีฤทธิ์ในการลดการอักเสบและอาการคันอย่างรวดเร็ว โดยจะไปยับยั้งการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันที่ทำให้เกิดการอักเสบ มักใช้ในรูปแบบของครีมหรือโลชั่นทาบริเวณที่เป็นผื่น
  • ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (Non-steroidal Anti-inflammatory Agents) เช่น Tacrolimus หรือ Pimecrolimus ถือเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกในการรักษาโรคเซ็บเดิร์ม โดยเฉพาะในกรณีที่ผู้ป่วยแพ้สเตียรอยด์ หรือมีอาการข้างเคียงจากการใช้สเตียรอยด์ โดยตัวยาจะไปยับยั้งการทำงานของเซลล์ภูมิคุ้มกันที่ทำให้เกิดการอักเสบโดยตรง ทำให้ลดอาการคัน แดง และสะเก็ดของเซ็บเดิร์มได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดผลข้างเคียงน้อย

2. การรักษาเซ็บเดิร์มด้วยยาชนิดรับประทาน

แม้ว่าการรักษาเซ็บเดิร์มส่วนใหญ่จะเน้นการใช้ยาภายนอก เช่น ครีม, โลชั่น หรือแชมพู แต่ในบางกรณีที่มีอาการรุนแรงมากและไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาภายนอก แพทย์อาจพิจารณาให้ยาชนิดรับประทานเพิ่มเติม เพื่อช่วยควบคุมอาการและบรรเทาความรุนแรงของโรค โดยยาที่แพทย์อาจจ่ายให้ มีดังนี้

  • ยา Itraconazole และ ยา Fluconazole ยาทั้งสองตัวนี้มีคุณสมบัติเหมือนกัน คือ การเข้าไปยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อรา Malassezia ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของโรคเซ็บเดิร์ม โดยไปรบกวนการสร้างเยื่อหุ้มเซลล์ของเชื้อรา ทำให้เชื้อราตายในที่สุด
  • ยากลุ่มคอติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroid) โดยยาชนิดนี้จะไปยับยั้งการอักเสบของผิวหนัง ทำให้อาการคัน แดง และบวมลดลง ให้ผลการรักษาที่ดีมาก แต่อย่างไรก็ตามการใช้สเตียรอยด์ระยะยาวอาจมีผลข้างเคียง ดังนั้นจึงควรใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น

การเลือกใช้ยาชนิดใดจะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการของโรคเซ็บเดิร์ม และปัจจัยอื่นๆ เช่น อายุของผู้ป่วย, โรคประจำตัว และการตอบสนองต่อยา การรักษาเซ็บเดิร์มด้วยยาชนิดรับประทานควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาเลือกยาที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคลและติดตามผลการรักษาอย่างใกล้ชิด

3. การดูแลความสะอาดของผิวและหนังศีรษะ

การดูแลความสะอาดของผิวและหนังศีรษะเป็นขั้นตอนสำคัญในการรักษาและบรรเทาอาการของโรคเซ็บเดิร์ม เพราะการทำความสะอาดอย่างถูกวิธีจะช่วยลดปริมาณน้ำมันส่วนเกินและเชื้อรา Malassezia ลง โดยเราสามารถดูแลความสะอาดของผิวและหนังศีรษะขณะที่กำลังมีอาการเซ็บเดิร์มได้ ดังนี้

  • สระผมเป็นประจำ แต่ไม่ควรสระบ่อยจนเกินไป เพราะอาจทำให้หนังศีรษะแห้งและระคายเคือง และควรเลือกแชมพูที่อ่อนโยนและมีส่วนผสมของสารต้านเชื้อรา เช่น เซเลเนียมซัลไฟด์ (Selenium Sulfide) หรือคีโตโคนาโซล (Ketoconazole)
  • ล้างหน้าด้วยผลิตภัณฑ์ที่อ่อนโยน ไม่มีส่วนผสมของน้ำหอม แอลกอฮอล์ เพราะอาจทำให้เกิดการระคายเคืองได้ รวมถึงควรล้างหน้าด้วยน้ำอุ่น เพราะน้ำอุ่นจะช่วยให้ทำความสะอาดน้ำมันส่วนเกินที่สะสมบนผิวหน้าได้ดีขึ้น ลดความระคายเคือง และกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดที่ผิวหน้า ช่วยให้ผิวหน้าดูสดใสและสุขภาพดีขึ้น
  • ดูแลผิวกาย โดยการอาบน้ำด้วยสบู่ที่อ่อนโยน และใส่ใจในการทำความสะอาดบริเวณหน้าอกและแผ่นหลัง หลีกเลี่ยงการขัดผิวแรง ๆ เพราะอาจทำให้ผิวระคายเคืองและอาการแย่ลงได้

วิธีป้องกันการเกิดโรคเซ็บเดิร์ม

เนื่องจากเซ็บเดิร์มยังเป็นโรคผิวหนังที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ การดูแลตัวเองเพื่อป้องกันการเกิดโรคเซ็บเดิร์มจึงนับเป็นสิ่งที่ทุกคนควรทำมากที่สุด โดยวิธีป้องกันการเกิดเซ็บเดิร์มสามารถทำได้โดยการดูแลผิวและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่าง เช่น

1. การดูแลผิวหน้าให้แข็งแรง

ผิวมัน นับเป็นหนึ่งในความผิดปกติของระบบการทำงานของผิวหน้า เมื่อผิวเสียสมดุลไปแล้วจึงทำให้เกิดปัญหาผิวอื่นๆ ตามมาได้ง่าย ซึ่งรวมถึงการเกิดเซ็บเดิร์มด้วย ดังนั้นการดูแลผิวหน้าให้แข็งแรง อยู่ในสภาวะสมดุล ก็จะช่วยให้ความมันบนใบหน้าลดลง ลดโอกาสที่จะเกิดเซ็บเดิร์มลงด้วย

โดยการดูแลผิวให้แข็งสามารถทำได้โดยการใช้มอยเจอไรเซอร์ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นและกักเก็บน้ำให้กับผิวเป็นประจำ โดยมากแล้วมอยเจอไรเซอร์จะมีความอ่อนโยนสูง สามารถใช้ได้แม้ในตอนที่มีอาการของโรคเซ็บเดิร์มอยู่ โดยมอยเจอไรเซอร์จะช่วยกู้ผิวที่มัน หรือเกิดการระคายเคืองให้กลับสู่สภาพวะปกติ

แต่การใช้มอยเจอไรเซอร์อาจต้องใช้เวลาสักระยะที่จะช่วยกู้ผิวที่อ่อนแอ ผิวมัน ให้กลับมาแข็งแรงได้ หากต้องการกู้ผิวให้กลับมาแข็งแรงอย่างเร่งด่วน หัตถการแพทย์เหล่านี้อาจตอบโจทย์กว่า เช่น

  • การฉีดเมโสหน้าใส การใช้เข็มขนาดเล็กฉีดสารสกัดจากวิตามิน และสารสำคัญอื่น ๆ เข้าไปที่ผิว  ทำให้ตัวยาสามารถเข้าไปช่วยฟื้นบำรุงผิวได้อย่างล้ำลึก ในผู้ที่ต้องการดูแลผิวให้แข็งแรงอาจเลือกฉีดเมโสสูตร Meso Bright สูตรเฉพาะจาก Better Me Clinic ที่ช่วยให้เติมความชุ่มชื้นให้กับผิวพร้อมกับการปรับผิวหน้าให้ดูกระจ่างใส ด้วยผสมจากสารสกัด phytoHA ธรรมชาติจากพืชและวิตามินที่จำเป็นต่อผิวอีกหลายชนิด ผิวจึงได้รับการฟื้นฟูอย่างมีประสิทธิภาพ
  • การทำทรีตเมนต์ การทำทรีตเมนต์ คือ การเติมสารอาหารให้กับผิวหน้าโดยตรงผ่านเทคนิคต่าง ๆ ในผู้ที่มีหน้ามัน Better Me Clinic ขอแนะนำ Golden Treatment ทรีตเมนต์ที่มีส่วนผสมของทองคำบริสุทธิ์ ที่จะช่วยฟื้นฟูและทำให้รูขุมขนกลับมากระชับขึ้นอีกครั้ง นอกจากนี้ยังช่วยให้ผิวกระจ่าง แลดูสุขภาพดีอีกด้วย
  • การดริปวิตามิน (Vitamin Drip) คือ การให้สารน้ำที่มีส่วนประกอบของวิตามิน สารอาหาร และแร่ธาตุต่าง ๆ ที่ร่างกายต้องการผ่านทางหลอดเลือดดำ ซึ่งการดริปวิตามินนอกจากจะช่วยให้ผิวกลับมาแข็งแรงแล้ว ยังช่วยเสริมสุขภาพด้านอื่น ๆ อีกด้วย

2. ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต

พฤติกรรมการใช้ชีวิตที่หลายคนคุ้นชินอาจเป็นต้นเหตุของการเกิดเซ็บเดิร์มได้ เช่น ความเครียด, การพักผ่อนไม่เพียงพอ การสูบบุหรี่ และการดื่มแอลกอฮอล์ โดยพฤติกรรมเหล่านี้จะไปกระตุ้นให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนบางชนิดออกมามากขึ้น ซึ่งฮอร์โมนเหล่านี้จะส่งผลให้ต่อมไขมันทำงานหนักขึ้นจนมีผิวหน้ามันมากกว่าปกติ

ดังนั้นการพยายามเครียดให้น้อยลง พักผ่อนให้มากขึ้น ลดการสูบบุหรี่และแอลกอฮอล์ก็จะช่วยให้ฮอร์โมนสมดุลมากขึ้น การทำงานของต่อมไขมันเป็นไปอย่างปกติ ลดโอกาสที่จะเกิดการเติบโตของเชื้อยีสต์ Malassezi ลงได้

3. หลีกเลี่ยงสภาพอากาศที่ร้อนชื้น

เพื่อป้องกันการเกิดเซ็บเดิร์ม เราควรหลีกเลี่ยงสภาพอากาศร้อนชื้น เนื่องจากเป็นสภาพอากาศที่เหมาะต่อการเจริญเติบโตของเชื้อยีสต์ Malassezi มากที่สุด แต่เนื่องจากประเทศไทยเป็นเมืองร้อนการหลีกเลี่ยงสภาพอากาศร้อนชื้นจึงอาจเป็นไปได้ยาก หากต้องออกไปในพื้นที่ที่มีสภาพอากาศร้อนและชื้นมาก ๆ Better Me Clinic แนะนำให้สวมเสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี และหลีกเลี่ยงการใส่เสื้อผ้าที่รัดแน่นเกินไป เพื่อลดโอกาสที่จะเกิดการสะสมของเหงื่อและแบคทีเรีย

สรุปเกี่ยวกับโรคเซ็บเดิร์ม

โรคเซ็บเดิร์มคือ โรคผิวหนังอักเสบเรื้อรังที่เกิดจากการอักเสบของต่อมไขมัน มักพบที่บริเวณที่มีต่อมไขมันมาก เช่น หนังศีรษะ, ใบหน้า, หน้าอก และหลัง อาการเด่นชัดคือ ผิวแดง คัน มีสะเก็ด ลอก เป็นขุย และอาจมีน้ำมันส่วนเกิน ปัจจุบันยังไม่มียารักษาให้หายขาด แต่สามารถควบคุมอาการได้ด้วยการใช้ยาภายนอก ยารับประทาน และการดูแลผิวพรรณอย่างสม่ำเสมอ การรักษาโรคเซ็บเดิร์มต้องอาศัยความอดทนและการดูแลอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันไม่ให้อาการกลับมาเป็นซ้ำ

ถ้ายังไม่มั่นใจว่าควรดูแลผิวพรรณด้วยวิธีใด สามารถติดต่อเข้ามาที่ Better Me Clinic by Dr. Chanya เพื่อให้คุณหมอประเมินสภาพผิวและแนะนำหัตถการที่เหมาะสมแบบเคสบายเคสได้เลย ติดต่อนัดหมายได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 02-059-8118, 088-603-2641 หรือไลน์ @bettermeclinic ปรึกษาคุณหมอฟรี! ไม่มีค่าใช้จ่าย รับรองว่าคุณจะมีผิวสวย ๆ กลับบ้านไปอย่างแน่นอน!

  • Seborrheic Dermatitis. (2020, May 29). Cleveland Clinic.https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/14403-seborrheic-dermatitis 
  • Seborrheic Dermatitis. (2024, November 26). Mayo Clinic. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/seborrheic-dermatitis/symptoms-causes/syc-20352710 
  • โรคผิวหนังอักเสบเซ็บเดิร์ม. (26 พฤศจิกายน 2567). HDmall. https://hdmall.co.th/blog/health/seborrheic-dermatitis-symptom/ 

เว็บไซต์นี้ มีการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ (Cookies) เพื่อมอบบริการที่ดีที่สุดสำหรับคุณ