ทำความรู้จัก “สิวเสี้ยน” พร้อมวิธีป้องกันและรักษาสิวชนิดนี้อย่างอยู่หมัด!
ผิวดีมาจากไหนก็ต้องยอมแพ้ให้กับ “สิวเสี้ยน” อีกหนึ่งปัญหาผิวที่ดูเหมือนจะเป็นเรื่องเล็ก แต่กลับตามหลอกหลอนผู้ที่ดูแลผิวอย่างไม่จบไม่สิ้น
ถึงแม้สิวเสี้ยนจะเป็นปัญหาผิวที่ผู้สนทนาอยู่ตรงหน้าจะสังเกตเห็นได้ยาก แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าปัญหานี้ทำให้ใครหลายคนเสียความมั่นใจไปไม่น้อย
วันนี้ Better Me Clinic จะพาทุกคนมาทำความรู้จักกับสิวเสี้ยน สิวขนาดเล็กที่มีลักษณะคล้ายหนาม ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร? มีกี่ประเภท? รวมถึงวิธีรักษาสิวเสี้ยนให้อยู่หมัด จบ ครบ ในบทความเดียว!
สิวเสี้ยนคืออะไร? สิวเสี้ยนเกิดจากอะไร?
สิวเสี้ยน (Trichostasis Spinulosa) คือ สิวชนิดหนึ่งที่มีลักษณะคล้ายสิวอุดตัน แต่จะมีกระจุกขนเส้นเล็กๆ แทรกอยู่ด้วย เมื่อสัมผัสแล้วจะให้ความรู้สึกคล้ายหนาม พบได้บ่อยในวัยรุ่นจนถึงผู้สูงอายุ
โดยสิวเสี้ยนจะเกิดจากความผิดปกติของต่อมรูขุมขน ทำให้จากเดิมที่ 1 รูขุมขนควรมีเส้นขนเกิดเพียง 1-4 เส้น ดันมีเส้นขนขึ้นมามากถึง 5-25 เส้น ก่อนที่เส้นขนเหล่านี้จะรวมตัวกับเซลล์ผิวที่ตายแล้วและอุดตันอยู่ในรูขุมขน จนกลายเป็นสิวเสี้ยนในที่สุด
ปัจจุบันยังไม่สามารถระบุกลไกที่ทำให้เกิดความผิดปกตินี้ได้อย่างแน่ชัด แต่พบว่าสิวเสี้ยนมักเกิดในบริเวณที่มีต่อมไขมันมาก ทำให้ปัจจัยเหล่านี้อาจเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดสิวเสี้ยนได้ เช่น
- ความผิดปกติของฮอร์โมน ฮอร์โมนเพศชาย (Testosterone) มีส่วนในการกระตุ้นการทำงานของต่อมไขมัน ซึ่งถ้าหากฮอร์โมนนี้ถูกผลิตออกมามากเกินไปก็จะยิ่งทำให้หน้ามันและง่ายต่อการเกิดสิวเสี้ยน
- ปริมาณกรดไขมันไลโนเลอิก (Linoleic Acid) ลดลง กรดชนิดนี้เป็นกรดไขมันจำเป็นที่อยู่ในซีบัมหรือน้ำมันส่วนเกินที่ร่างกายผลิตออกมา เมื่อใดก็ตามที่กรดไลโนเลอิกในซีบัมลดลง จะทำให้ผิวเกิดขาดสมดุลและนำไปสู่การเกิดสิวต่างๆ ได้
- เชื้อแบคทีเรียพีแอคเน่ (Propionibacterium Acne) เชื้อแบคทีเรียชนิดนี้เป็นเชื้อที่อาศัยอยู่ในรูขุมขนตามธรรมชาติ หากอยู่ในสภาวะสมดุลจะไม่ก่อให้เกิดความผิดปกติใดๆ แต่เมื่อผิวขาดความสมดุล เชื้อตัวนี้จะกระตุ้นให้เกิดการผลิตซีบัม ทำให้หน้ามันและง่ายต่อการอุดตันของรูขุมขน
- การรบกวนรูขุมขนเป็นประจำ เช่น การบีบ เค้น เกา บริเวณนั้นๆ เป็นประจำ จะทำให้ผิวเกิดความระคายเคือง จนเกิดเป็นสิวเสี้ยนได้
- เครื่องสำอาง การใช้เครื่องสำอางบางประเภทอาจก่อให้เกิดปัญหาหน้ามันและกระตุ้นให้เกิดการอุดตันของรูขุมขนได้ เช่น เครื่องสำอางที่มีน้ำมัน และเครื่องสำงอางแบบฝุ่น ยิ่งถ้าหากหลังใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้แล้วล้างหน้าไม่สะอาด ก็จะยิ่งทวีคูณโอกาสในการอุดตันของรูขุมขนได้
- การผลัดเซลล์ผิว โดยปกติแล้วผิวของคนเราจะผลัดตัวเองตามธรรมชาติ แต่ในบางรายที่มีการผลัดเซลล์ผิวผิดปกติ จะทำให้เซลล์ผิวที่ตายไม่ผลัดออกและสะสมอยู่ด้านบนผิว ปิดกั้นการระบายน้ำมันในรูขุมขน จนเกิดการอุดตันในที่สุด ในบางรายอาจมีการใช้เคมีเข้ามาช่วยผลัดเซลล์ผิว แต่หากทำบ่อยๆ อาจก่อให้เกิดสิวเสี้ยนได้เช่นกัน
- พฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น การรับประทานอาหารที่ก่อให้เกิดสิว อย่างอาหารที่มีไขมันและน้ำตาลสูง รวมทั้งการมีความเครียดสะสม และพักผ่อนไม่เพียงพอ ก็จะทำให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนออกมาได้ผิดปกติ ทำให้หน้ามันและง่ายต่อการอุดตันนั่นเอง
สิวเสี้ยนมีกี่ประเภท?
สิวเสี้ยน สามารถพบได้บ่อยๆ 2 ประเภท ได้แก่ สิวเสี้ยนหัวขาว และสิวเสี้ยนหัวดำ
โดยสิวเสี้ยนทั้งสองประเภทนี้เกิดจากการอุดตันของรูขุมขนทั้งคู่ แต่จะแตกต่างกันตรงที่สิวเสี้ยนหัวดำ จะมีขนอ่อนแทรกออกมาจากรูขมขนทำให้เราสามารถสังเกตเห็นเป็นจุดเล็กๆ สีดำ
ในขณะที่สิวเสี้ยนหัวขาวจะไม่มีขนแทรกออกมา จึงสังเกตเห็นเป็นจุดเล็กๆ สีขาวที่มาจากไขมันฝังอยู่ใต้ผิวนั่นเอง
ในบางตำราอาจไม่นับว่าสิวเสี้ยนหัวขาวเป็นสิวเสี้ยน เนื่องจากบริเวณรูขุมขนไม่มีความผิดปกติใดๆ ในการผลิตเส้นขน และจะเหมารวมว่าสิวเสี้ยนชนิดนี้เป็นหนึ่งในสิวอุดตัน หรือคอมีโดน (Comedone) แทน
บริเวณที่มักเกิดสิวเสี้ยน
สิวเสี้ยนสามารถเกิดขึ้นได้ทุกบริเวณที่มีรูขุมขน แต่มักจะเกิดได้ง่ายเป็นพิเศษในบริเวณที่มีต่อมไขมันมาก เช่น บริเวณหน้าผาก จมูก คาง ใต้คาง หน้าแก้ม แผ่นหลัง และบริเวณหน้าอก
สำหรับสิวเสี้ยนบริเวณหน้าผาก คาง และหน้าแก้ม มีโอกาสเกิดขึ้นได้ แต่มักจะเกิดขึ้นเป็นสิวหัวดำมากกว่า
สิวเสี้ยนและสิวหัวดำแตกต่างกันอย่างไร?
อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า สิวเสี้ยนเป็นความผิดปกติของต่อมรูขุมขมที่ผลิตเส้นขนออกมากว่าปกติ จับตัวกับเซลล์ผิวหนังที่ไม่ได้รับการผลัดออกมา ทำให้เห็นเป็นจุดสีดำเล็กๆ
ในขณะที่สิวหัวดำนั้นเป็นสิวอุดตันชนิดหนึ่งเกิดจากการที่น้ำมันส่วนเกินจับตัวกับเซลล์ผิวเก่าและสิ่งตกค้างต่างๆ ที่อยู่ในรูขุมขน จนทำให้ท่อรูขุมขนไม่สามารถระบายน้ำมันส่วนเกินออกมาได้ เมื่อหัวสิวเปิดสิ่งเหล่านี้จะสัมผัสกับอากาศและเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชั่น จนทำให้หัวสิวกลายเป็นสีดำนั่นเอง
หากมองด้วยตาเปล่าอาจสังเกตเห็นความแตกต่างของสิวสองชนิดนี้ได้ยาก Better Me Clinic แนะนำให้ใช้มือสะอาดสัมผัสบริเวณที่เกิดสิวเบาๆ หากเป็นสิวเสี้ยนเมื่อสัมผัสจะรู้สึกเหมือนมีเสี้ยนแหลมๆ แทงกับนิ้วมือ และหากเป็นสิวหัวดำจะรู้สึกเป็นก้อนกลมๆ ที่ไม่นูนจากผิวมากนัก
ถึงแม้สองปัญหานี้จะมีลักษณะที่คล้ายคลึงกันมากแต่กลับมีวิธีรักษาที่แตกต่างกัน ดังนั้นก่อนการรักษาควรวิเคราะห์ว่าผิวของเราเป็นแบบใด เพื่อจะได้ทำการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพ
วิธีกำจัดสิวเสี้ยน
การรักษาสิวเสี้ยนที่ถูกต้องสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 วิธีหลักๆ คือ การรักษาสิวเสี้ยนด้วยตนเอง การรักษาสิวเสี้ยนด้วยยา และการรักษาสิวเสี้ยนด้วยวิธีการทางการแพทย์
1. การรักษาสิวเสี้ยนด้วยตนเอง
สิวเสี้ยนเป็นสิวที่ไม่ได้สร้างความเสียหายให้กับผิวมากนัก วิธีการรักษาสิวเสี้ยนจึงไม่ซับซ้อน สามารถรักษาให้หายได้ง่ายๆ ด้วยตนเอง โดยสามารถทำได้หลายวิธีดังนี้
- การกดสิว เป็นการใช้เครื่องมือกดสิวกดเข้าไปที่บริเวณที่มีสิวเสี้ยน ทำให้สิ่งตกค้างต่างๆ ที่อยู่ในรูขมขนออกมาเป็นเส้นสีขาวเล็กๆ คล้ายตัวหนอน ทั้งนี้ควรกดอย่างเบามือ เพราะถ้าหากกดแรงเกินไปอาจทำให้เกิดการอักเสบและทิ้งรอยแดงเอาไว้ได้
- การถอนสิวเสี้ยน เนื่องจากสิวเสี้ยนจะมีลักษณะคล้ายเสี้ยนหนามเล็กๆ แทรกอยู่บริเวณรูขุมขน เราจึงสามารถถอนหนามเหล่านั้นออกได้โดยการใช้แหนบรูปแบบต่างๆ ดึงออก ซึ่งหากจะรักษาสิวเสี้ยนด้วยวิธีนี้ควรมั่นใจก่อนว่าแหนบที่ใช้มีความสะอาดมากพอ เพราะหากผิดพลาดอาจทำให้เกิดการติดเชื้อได้ รวมทั้งควรใช้วิธีนี้ควบคู่ไปกับวิธีอื่นๆ ด้วย
- การใช้มาสก์หรือแผ่นลอกสิวเสี้ยน เป็นวิธีที่นิยมใช้รักษาสิวเสี้ยนที่เกิดขึ้นในบริเวณกว้าง เพราะสามารถกำจัดสิวเสี้ยนได้เป็นจำนวนมากในครั้งเดียว ซึ่งวิธีนี้อาจไม่เหมาะกับผู้ที่มีผิวบอบบาง เนื่องจากอาจทำให้เกิดอาการหน้าลอกหรือแสบหน้าได้
- การสครับผิว วิธีนี้นอกจากจะช่วยลดปัญหาสิวเสี้ยนที่กำลังเผชิญอยู่ ยังเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหานี้ซ้ำๆ อีกด้วย เนื่องจากการสครับผิวจะเข้าไปช่วยทำให้เซลล์ผิวที่ตายแล้วหลุดออก จึงช่วยลดโอกาสในการเกิดการอุดตัน ทำให้ปัญหาสิวต่างๆ ลดลง
- การเลือกใช้สกินแคร์ ในผู้ที่มีปัญหาสิวเสี้ยน ควรเลือกใช้เครื่องสำอางที่ไม่มีส่วนผสมของน้ำมัน เพื่อลดการอุดตันบริเวณรูขุมขน รวมทั้งอาจเลือกใช้สกินแคร์ที่มีส่วนผสมของกรดอัลฟาไฮดรอกซี (AHA) และ กรดเบต้าไฮดรอกซี (BHA) เพื่อเร่งให้สิวเสี้ยนหลุดออกนั่นเอง
2. การรักษาสิวเสี้ยนด้วยยา
การรักษาสิวเสี้ยนด้วยยา เป็นวิธีที่ต้องอาศัยวินัยของผู้ป่วยเป็นอย่างมาก เนื่องจากยาบางชนิดต้องทาอย่างต่อเนื่องวันละ 1-2 ครั้ง และอาจใช้เวลานานหลายสัปดาห์ แต่วิธีนี้ก็เป็นวิธีที่เห็นผลและสามารถคงผลลัพธ์ไว้ได้ในระยะยาว ซึ่งยารักษาสิวเสี้ยนที่นิยมใช้มีดังนี้
- เบนโซอิลเปอร์ออกไซด์ (Benzoyl Peroxide) เป็นยาที่แพทย์แนะนำให้ใช้ในผู้ที่มีปัญหาสิวไม่รุนแรง ควรใช้ตัวยาที่มีความเข้มข้นอยู่ระหว่าง 2.5-10% โดยตัวยาจะมีคุณสมบัติในการต้านเชื้อแบคทีเรียและช่วยให้ผิวผลิตน้ำมันออกมาน้อยลง จึงช่วยลดโอกาสในการเกิดสิวได้ดี แต่ยาชนิดนี้ไม่เหมาะสำหรับผู้ที่มีผิวแพ้ง่าย
- กรดอะซีลาอิก (Azelaic Acid) เป็นกรดที่สกัดจากธรรมชาติ เป็นยาที่แพทย์แนะนำให้ใช้ในผู้ที่มีปัญหาสิวรุนแรงน้อยถึงปานกลาง มีคุณสมบัติในการกำจัดปริมาณแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของการเกิดสิว
- สารประกอบเรตินอยด์ (Retinoids) เป็นหนึ่งในกลุ่มสารอนุพันธ์วิตามินเอที่สกัดจากธรรมชาติ มีคุณสมบัติในการกระตุ้นการผลัดเซลล์ผิวเก่า จึงช่วยลดโอกาสที่จะเกิดการอุดตันของรูขุมขนได้ดี
ทุกคนสามารถซื้อยารักษาสิวได้ด้วยตนเองที่ร้านขายยาที่มีการรับรองอย่างถูกต้อง และควรใช้ตามคำแนะนำที่ได้รับจากเภสัชกร เพราะการใช้ยาที่มีความเข้มข้นมากเกินไปอาจทำให้ผิวระคายเคืองจนกลายเป็นต้นเหตุของการเกิดสิวรูปแบบอื่นๆ ได้
3. การรักษาสิวเสี้ยนด้วยวิธีการทางการแพทย์
สำหรับผู้ที่มีปัญหาสิวเสี้ยนเรื้อรัง ไม่สามารถรักษาให้หายด้วยตนเอง รวมทั้งผิวไม่ตอบสนองต่อยาแล้ว แพทย์อาจแนะนำให้เข้ารับการทำหัตถการต่างๆ ซึ่งเป็นวิธีที่เห็นผลได้อย่างรวดเร็ว และคงผลลัพธ์ไว้ได้ในระยะยาว โดยหัตถการที่แพทย์มักแนะนำสำหรับผู้ที่มีปัญหาสิวเสี้ยน ได้แก่
- การเลเซอร์ผิว เป็นการใช้แสงเลเซอร์เข้าไปเปิดบริเวณรูขุมขนและกำจัดเส้นขนที่มีมากเกินไปให้หลุดออก เมื่อทำต่อเนื่อง 3-5 ครั้ง ห่างกันครั้งละ 4-6 สัปดาห์ ก็จะช่วยกำจัดขนได้ลึกถึงเซลล์รากขน ลดโอกาสที่จะเกิดปัญหาสิวเสี้ยนซ้ำซาก
- ใช้เครื่องดูดสิว เป็นวิธีการกำจัดสิวเสี้ยนที่ไม่ทำร้ายผิว โดยตัวเครื่องจะดูดสิวเสี้ยนรวมถึงสิ่งสกปรกต่างๆ ที่อุดตันอยู่ในรูขุมขนออก ทั้งนี้ควรเลือกรับบริการกับคลินิกที่ได้มาตรฐานเพื่อป้องกันการเกิดผลข้างเคียงอื่นๆ
- การผลัดเซลล์ผิวหน้า (Peeling) เป็นกระบวนการเร่งให้เกิดการผลัดเซลล์ผิวเก่าที่ตายแล้วโดยใช้สารเคมี วิธีนี้จะช่วยให้รูขุมขนไม่อุดตัน รวมถึงช่วยกระตุ้นให้ผิวเกิดการซ่อมแซมตนเอง ที่ Better Me Clinic เรามีการผลัดเซลล์ผิวด้วยสูตร Acne Peeling สูตรนี้สามารถรักษาปัญหาสิวได้อย่างครอบคลุม ช่วยฆ่าเชื้อสิว และทำให้สิวหายไวขึ้น
บีบสิวเสี้ยนอันตรายไหม?
การบีบสิวเสี้ยนเป็นสิ่งที่อันตรายและไม่ควรทำอย่างยิ่ง เนื่องจากจะยิ่งทำให้เชื้อโรคและสิ่งสกปรกต่างๆ เข้าไปสู่รูขุมขนได้มากขึ้น ในบางกรณีอาจทำให้สิ่งสกปรกที่เคยสะสมอยู่บริเวณเดียวมีการขยายตัวไปยังบริเวณรอบๆ รวมทั้งการบีบเค้นสิวเสี้ยนยังเป็นการรบกวนรูขุมขน ทำให้เกิดการระคายเคืองและอักเสบได้
แผ่นลอกสิวเสี้ยนช่วยลดการเกิดสิวเสี้ยนได้ไหม?
แผ่นลอกสิวเสี้ยน ไม่สามารถลดการเกิดสิวเสี้ยนได้ แต่เป็นการกำจัดสิวเสี้ยนที่มีอยู่ ณ ขณะนั้น โดยสิ่งที่ติดออกมากับแผ่นลอกสิวเสี้ยน คือ เส้นขนเล็กๆ รวมถึงคราบไขมันและสิ่งสกปรกที่อุดตันในรูขุมขน
ทำให้หลังลอกสิวเสี้ยนยังคงมีโอกาสที่จะกลับมามีสิวเสี้ยนได้อีก เพราะร่างกายจะคอยผลิตไขมันเพื่อสร้างสมดุลให้ผิวตามกลไกธรรมชาติ
แต่ทั้งนี้ก็ไม่ควรใช้แผ่นลอกสิวเสี้ยนบ่อยนัก โดยเฉพาะผู้ที่มีผิวบอบบาง เพราะอาจทำให้เกิดการอักเสบของผิว รวมทั้งมีอาการผิวแห้งลอกได้
วิธีป้องกันการเกิดสิวเสี้ยน
วิธีป้องกันการเกิดสิวเสี้ยจะเน้นไปที่การดูแลผิวให้มีรูขุมขนกระชับอยู่เสมอ เนื่องจากรูขุมขนที่กว้างจะง่ายต่อการสะสมของเชื้อแบคทีเรียและคราบสกปรกต่างๆ สามารถป้องกันได้โดยการหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่อาจทำให้เกิดรูขุมขนกว้าง เช่น การเช็ดหน้าแรงๆ การสครับผิวบ่อยเกินไป
การรักษาความสะอาดก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ควรให้ความสำคัญ โดยควรล้างหน้าวันละ 2 ครั้ง ด้วยผลิตภัณฑ์ที่อ่อนโยน และช่วยลดความมัน รวมทั้งหลังจากล้างหน้าควรทำความสะอาดหน้าอีกครั้งด้วยโทนเนอร์ที่ไม่มีส่วนผสมของน้ำมัน เนื่องจากการใช้โทนเนอร์จะช่วยให้สิ่งสกปรกที่ตกค้างอยู่บนผิวหลุดออกและช่วยให้ผิวสะอาดหมดจด
นอกจากนี้การผลัดเซลล์ผิวอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ก็ช่วยขจัดเซลล์ผิวที่ตายแล้วให้หลุดออกไปได้ โดยวิธีนี้นอกจากจะช่วยลดโอกาสในการเกิดรูขุมขนอุดตันแล้ว ยังช่วยกระตุ้นให้เกิดการสร้างเซลล์ผิวใหม่ ทำให้ผิวกระจ่างใสและดูเรียบเนียนขึ้นด้วย
จะเห็นได้ว่าการรักษาสิวเสี้ยนนั้นทำได้ไม่ยาก และมีวิธีให้เลือกอย่างหลากหลาย แต่หากยังไม่มั่นใจว่าปัญหาผิวที่เราเผชิญอยู่คือสิวเสี้ยนจริงไหม? ควรรักษาด้วยวิธีไหนจึงจะเหมาะกับเรามากที่สุด? สามารถติดต่อเข้ามาได้ที่ Better Me Clinic เพื่อให้คุณหมอประเมินสภาพผิวและแนะนำหัตการที่เหมาะสมแบบเคสบายเคสได้
หากสนใจ สามารถติดต่อนัดหมายได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 02-059-8118, 088-603-2641 หรือไลน์ @bettermeclinic ปรึกษาคุณหมอฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย รับรองว่าคุณจะมีผิวสวยๆ กลับบ้านไปอย่างแน่นอน!
- Science Direct, The emerging principles for acne biogenesis: A dermatological problem of puberty (https://www.sciencedirect.com/science/article/pii/S2452231717300064), 5 January 2024.
- Pobpad, P. Acnes (พี-แอคเน่) ตัวการสิวและวิธีรับมือ (https://www.pobpad.com/p-acnes-พี-แอคเน่-ตัวการสิวและ), 5 มกราคม 2567.
- Pobpad, Benzoyl Peroxide (เบนโซอิลเพอร์ออกไซด์) (https://www.pobpad.com/benzoyl-peroxide), 5 มกราคม 2567.
- Pobpad, กรดอะซีลาอิก (Azelaic Acid)
- (https://www.pobpad.com/กรดอะซีลาอิก-azelaic-acid), 5 มกราคม 2567.
- Loreal Paris, เรตินอล vs เรตินอยด์: มันต่างกันอย่างไรนะ? (https://www.loreal-paris.co.th/retinol-vs-retinoid-guide), 5 มกราคม 2567.
- คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล, สิวเสี้ยน ตอนที่ 1 (https://www.si.mahidol.ac.th/th/healthdetail.asp?aid=479), 5 มกราคม 2567.
- คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล, สิวเสี้ยน ตอนที่ 2 (https://www.si.mahidol.ac.th/Th/healthdetail.asp?aid=480), 5 มกราคม 2567.