ปากกาลดน้ำหนัก เอาชนะความหิว! ทางเลือกของคนอยากผอม
‘ปากกาลดน้ำหนัก’ สำหรับใครหลายๆ คนที่กำลังพยายามลดน้ำหนัก หรือควบคุมน้ำหนักอยู่ น่าจะเคยได้ยินข้อมูลเกี่ยวกับปากกาลดน้ำหนักกันมาบ้าง แต่อาจมีข้อสงสัยว่า ปากกาลดน้ำหนักคืออะไร ช่วยควบคุมความหิวหรือลดน้ำหนักได้จริงหรือ หลักการทำงานเป็นอย่างไร อันตรายไหม หรือมีผลข้างเคียงอะไรบ้างBetter Me Clinic by Dr. Chanya ได้รวบรวมข้อมูลทั้งหมดแบบเจาะลึกทุกข้อที่คุณควรรู้เอาไว้ให้แล้ว
น้ำหนักมากแค่ไหนจึงถือว่าอ้วน?
น้ำหนักเท่านี้ ถือว่าอ้วนหรือยัง? หลายๆ คนอาจจะเคยตั้งคำถามนี้กับตัวเองมาบ้าง จริง ๆ แล้วเรามีหลักการง่าย ๆ ที่ใช้วัดว่ารูปร่างหรือสัดส่วนของเราอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมหรือไม่ นั่นคือ ค่าดัชนีมวลกาย Body Mass Index หรือที่หลายๆ คนคุ้นเคยในชื่อค่า BMI คือตัวชี้วัดมาตรฐานว่าสมดุลน้ำหนักต่อส่วนสูงในผู้ใหญ่ที่อายุ 20 ปีขึ้นไป โดยมีวิธีการคำนวณ พร้อมหลักเกณฑ์ดังนี้
ค่า BMI คำนวณจาก ค่าของน้ำหนักตัว (หน่วยเป็นกิโลกรัม) หารด้วยส่วนสูง (หน่วยเป็นเมตร) ยกกำลังสอง และสามารถแปลผลได้ดังนี้
- ค่า BMI < 18.5 แสดงถึง อยู่ในเกณฑ์น้ำหนักน้อยหรือผอม
- ค่า BMI 18.5 – 22.90 แสดงถึง อยู่ในเกณฑ์ปกติ
- ค่า BMI 23 – 24.90 แสดงถึง น้ำหนักเกิน
- ค่า BMI 25 – 29.90 แสดงถึง โรคอ้วนระดับที่ 1
- ค่า BMI 30 ขึ้นไป แสดงถึง โรคอ้วนระดับที่ 2
สำหรับผู้ที่ค่า BMI อยู่ในระดับ 23 ขึ้นไป ถือว่ามีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคอ้วน ซึ่งเป็นต้นเหตุของโรคอื่นๆ อีกมากมาย
แต่อย่างไรก็ตาม การแปลผลค่า BMI นั้น อาจไม่สามารถใช้ได้กับทุกคน เช่น ในนักกีฬา หรือนักเพาะกายที่มีมวลกล้ามเนื้อสูง หรือผู้ป่วยโรคตับ โรคไต ที่มีภาวะบวมน้ำ กลุ่มนี้อาจมีค่า BMI สูง โดยที่ไม่ได้มีภาวะน้ำหนักเกินหรืออ้วนก็ได้
อันตรายที่เกิดจากโรคอ้วน
จากรายงานพบว่าปัจจุบันมีผู้ป่วยโรคอ้วนมากกว่า 800 ล้านคน กระจายอยู่ทั่วโลก ขณะที่ประเทศไทย มีผู้ที่มีภาวะอ้วนลงพุงมากกว่า 20 ล้านคน ซึ่งนับเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างสูง และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อีกด้วย
ทั้งนี้ปัจจัยสำคัญมาจากพฤติกรรมการรับประทานที่ไม่เหมาะสม เช่น ชอบรับประทานอาหารที่ประกอบไปด้วยแป้ง น้ำตาล ไขมัน เป็นประจำ และไม่ได้ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ทำให้ร่างกายได้รับพลังงานเกินความต้องการ และสะสมมากขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้น้ำหนักเพิ่มสูงขึ้นและเกิดโรคอ้วน
โดยคำจำกัดความของโรคอ้วนนั้น คือภาวะที่ร่างกายมีการสะสมของไขมันมากกว่าปกติ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมามากมาย เช่น
- โรคความดันโลหิตสูง
- โรคไขมันในเลือดสูง
- โรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง
- โรคเบาหวาน
- โรคไขมันพอกตับ
- โรคข้อเข่าเสื่อม
- ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ
ทั้งนี้รายงานหลายชิ้นระบุว่า รอบเอวที่เพิ่มขึ้นทุก ๆ 5 เซนติเมตร จะเพิ่มโอกาสเกิดโรคเบาหวานได้ถึง 3-5 เท่า และนอกจากโรคที่กล่าวมานี้ โรคอ้วนยังอาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันอื่นๆ อีกด้วย เช่น อาจทำให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลง รู้สึกอ่อนเพลียมากกว่าปกติ เนื่องจากภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ ทำให้ร่างกายพักผ่อนไม่เพียงพอ เป็นต้น
ดังนั้นการลดน้ำหนัก จึงเป็นทางออกที่จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคต่างๆ ลง และทำให้มีสุขภาพดียิ่งขึ้น
นอกจากการออกกำลังกาย ควบคุมอาหารแล้ว อีกทางเลือกหนึ่งที่ช่วยในการควบคุมน้ำหนักสำหรับผู้ที่พยายามลดน้ำหนักมาหลายวิธีแล้วไม่ได้ผล คือการใช้ปากกาลดน้ำหนัก
ปากกาลดน้ำหนักคืออะไร?
ปากกาลดน้ำหนัก (Weight Loss Pen) เป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่คิดค้นขึ้นเพื่อใช้ช่วยควบคุมน้ำหนัก สำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาน้ำหนักเกิน ซึ่งจะช่วยลดความอยากอาหารของผู้ป่วยลง โดยปากกาลดน้ำหนักผ่านการศึกษาวิจัยรวมทั้งได้รับการรับรองมาตรฐานจาก FDA หรือ องค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2014 และปัจจุบันได้นำมาใช้ในประเทศไทยด้วย
ปากกาลดน้ำหนัก มีลักษณะคล้ายกับปากกาทั่วไป แต่ด้านหนึ่งจะมีเข็มขนาดเล็ก เพื่อใช้ฉีดตัวยาเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งการใช้ปากกาลดน้ำหนักนี้ จะต้องอยู่ภายใต้ควบคุมของแพทย์เท่านั้น เพื่อความปลอดภัยสูงสุด
ปากกาลดน้ำหนักทำงานอย่างไร?
ภายในปากกาลดน้ำหนักจะบรรจุตัวยาชื่อ Liraglutide ซึ่งเป็นยาที่เลียนแบบฮอร์โมนที่ทำให้รู้สึกอิ่ม GLP-1 (Glucagon Like Peptide 1) ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับฮอร์โมนที่ผลิตขึ้นในร่างกายกว่า 97% ตามปกติแล้ว ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนชนิดนี้เมื่อเรารับประทานอาหาร โดยจะออกฤทธิ์ต่อสมอง ทำให้ร่างกายรับรู้ว่ามีอาหารเข้าสู่ร่างกายแล้ว และทำให้เรารู้สึกอยากอาหารน้อยลง
นอกจากนี้ปากกาลดน้ำหนักบางชนิดยังอาจใช้ เซมากลูไทด์ (Semaglutide) ซึ่งออกฤทธิ์คล้ายคลึงกัน คือ ทำให้ผู้ใช้รู้สึกว่าอิ่มท้อง รวมทั้งช่วยลดการบีบตัวของกระเพาะอาหารและลำไส้ ทำให้ร่างกายย่อยอาหารได้ช้าลง อาหารจึงอยู่ในกระเพาะนานขึ้น และส่งผลให้รับประทานอาหารได้น้อยลง
ไม่เพียงเท่านั้นตัวยายังกระตุ้นให้ตับอ่อน หลั่งฮอร์โมนอินซูลินเพื่อช่วยปรับสมดุลระดับน้ำตาลในเลือด โดยจะไม่ทำให้น้ำตาลตก หรือวูบ เพราะยาจะออกฤทธิ์ก็ต่อเมื่อเรารับประทานอาหารแล้วเท่านั้น
ปากกาลดน้ำหนักเหมาะกับใคร?
สำหรับผู้ที่เหมาะกับการใช้ปากกาลดน้ำหนัก โดยส่วนใหญ่ควรจะต้องมีคุณสมบัติดังนี้
- ผู้ที่มีค่า BMI มากกว่า 30 ขึ้นไป หรือเข้าข่ายโรคอ้วนระดับที่ 2
- ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ หรือมีโรคประจำตัวอันเนื่องมาจากน้ำหนักตัว เช่น โรคความดันโลหิตสูงโรคไขมันในเลือดสูง โรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง โรคเบาหวาน เป็นต้น
- ผู้ที่เคยลดน้ำหนักด้วยวิธีอื่นๆ แล้วไม่ได้ผล
- ผู้ที่ต้องการปรับพฤติกรรมการรับประทาน
- ผู้ที่ต้องการลดน้ำหนักด้วยวิธีที่เหมาะสม และอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์
คุณสมบัติข้างต้นนี้เป็นคุณสมบัติพื้นฐานที่แพทย์มักใช้เพื่อประเมินว่าใครเหมาะสำหรับการใช้ปากกาลดน้ำหนัก แต่นอกจากคุณสมบัติที่กล่าวมาแล้ว แพทย์ยังอาจประเมินด้านอื่น ๆ เพิ่มเติมด้วย สำหรับผู้ที่ต้องการใช้ปากกาลดน้ำหนัก ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจประเมินก่อน
ปากกาลดน้ำหนักไม่เหมาะกับใคร?
แม้ว่าปากกาลดน้ำหนักจะเป็นทางเลือกที่ปลอดภัย และได้รับการรับรองมาตรฐานในระดับสากล แต่ก็มีข้อจำกัดบางประการ ที่ทำให้บางคนไม่สามารถใช้ปากกาลดน้ำหนักได้ เช่น
- ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร
- เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี หรือ ผู้ที่อายุมากกว่า 75 ปี
- ผู้ที่มีภาวะตับอ่อนอักเสบ
- ผู้ที่ป่วยด้วยโรคเบาหวานบางชนิด
- ผู้ที่แพ้ฮอร์โมนบางชนิด
- ผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์
ทั้งนี้ด้วยหลักการทำงานของปากลดน้ำหนัก ที่ช่วยลดความอยากอาหาร และควบคุมปริมาณแคลอรีเข้าสู่ร่างกาย จึงอาจไม่เหมาะกับผู้ที่รับประทานน้อยหรือไม่รับประทานของจุบจิบ เพราะจะยิ่งทำให้รับประทานน้อยลงไปอีก จนอาจส่งผลให้ร่างกายได้รับปริมาณแคลอรีที่ไม่เพียงพอ โดยสิ่งสำคัญที่สุดในการใช้ปากกาลดน้ำหนักคือ ต้องใช้ภายใต้การควบคุมและการแนะนำของแพทย์เท่านั้น
ผลข้างเคียงจากการใช้ปากกาลดน้ำหนักมีอะไรบ้าง?
ปากกาลดน้ำหนัก อาจมีผลข้างเคียงต่อร่างกายได้บางประการ เช่น
- คลื่นไส้อาเจียน พะอืดพะอม เนื่องจากตัวยามีผลต่อการบีบตัวต่อกระเพาะอาหารและลำไส้
- ปวดท้อง แน่นท้อง
- ท้องเสีย ท้องอืด หรือท้องผูก
- ปวดหัว วิงเวียนศีรษะ หรือมีไข้
แต่อย่างไรก็ตาม อาการที่กล่าวมาอาจไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกคนที่ใช้ปากกาลดน้ำหนัก แต่ขึ้นอยู่กับสุขภาพของแต่ละบุคคล นอกจากนี้ผู้ใช้ยาส่วนใหญ่จะสามารถปรับตัวกับยาได้เมื่อเวลาผ่านไป 1 สัปดาห์
วิธีใช้ปากกาลดน้ำหนัก
ปากกาลดน้ำหนักเป็นอุปกรณ์ที่ต้องใช้ภายใต้คำแนะนำของแพทย์ โดยจะต้องฉีดวันละ 1 ครั้ง เข้าที่ชั้นไขมันใต้ผิวหนังบริเวณหน้าท้อง ต้นขา หรือต้นแขน ขึ้นอยู่กับแพทย์พิจารณา โดยแพทย์มักแนะนำให้ฉีดช่วงเช้าหลังตื่นนอน หรือกลางคืนก่อนเข้านอน ซึ่งจะต้องฉีดเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง ห้ามขาด เพราะหากลืมฉีดจะทำให้ผลลัพธ์ในการลดน้ำหนักไม่เต็มประสิทธิภาพเท่าที่ควร
ทั้งนี้ในช่วงแรกที่เริ่มใช้ปากกาลดน้ำหนัก แพทย์อาจจะเริ่มจากโดสยาปริมาณน้อยๆ และค่อยๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งผ่านสัปดาห์ที่ 6 เป็นต้นไป ก็จะเริ่มให้ปริมาณยาคงที่ไปเรื่อยๆ
ตามปกติแล้ว จะไม่มีกำหนดตายตัวว่าจะต้องหยุดยาเมื่อไหร่ ขึ้นอยู่กับผลลัพธ์ที่ผู้ลดน้ำหนักต้องการ แต่โดยส่วนใหญ่ แพทย์จะแนะนำให้ใช้ปากกาลดน้ำหนักในช่วงระยะเวลาไม่เกิน 4-6 เดือนเท่านั้น เพื่อลดโอกาสเสี่ยงของการเกิดผลข้างเคียงตามมา แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ต้องให้แพทย์เป็นผู้ประเมินเป็นรายบุคคล
การใช้งานปากกาลดน้ำหนักนั้นค่อนข้างง่าย สามารถฉีดยาเองได้ที่บ้าน โดยส่วนใหญ่แพทย์หรือพยาบาลจะสอนวิธีการใช้ก่อน โดยมีขั้นตอนดังนี้
- เมื่อได้รับปากกาลดน้ำหนักมาแล้ว ต้องถอดหัวเข็มออก แล้วใส่เข็มลงไปตรงๆ ที่ด้ามปากกา บิดให้เข้าล็อก โดยจะได้ยินเสียงดังกึก ซึ่งแสดงว่าหัวเข็มล็อกกับด้ามปากกาแล้ว ถอดฝาออกก็จะเห็นเข็มขนาดเล็กสำหรับฉีด ซึ่งอาจมียาซึมออกมาได้บ้างเป็นปกติ
- ปรับระดับโดสยาตามที่แพทย์แนะนำ โดยสังเกตตัวเลขบริเวณปลายด้าม แล้วหมุนปรับระดับเพื่อปรับโดสยา ส่วนใหญ่แล้วสัปดาห์แรกอยู่ที่ระดับ 0.6 มิลลิกรัม สัปดาห์ที่สองอยู่ที่ระดับ 1.2 มิลลิกรัม และสามารถปรับจนถึง 3 มิลลิกรัม ทั้งนี้ระดับโดสยาของแต่ละคนจะไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับแพทย์ประเมิน หากปรับระดับผิด หรือหมุนเกิน สามารถหมุนย้อนกลับมาได้
- เมื่อปรับระดับโดสยาเรียบร้อยแล้ว ให้เตรียมฉีดยา โดยนำสำลีชุบแอลกอฮอล์เช็ดบริเวณผิวหนังที่จะฉีด ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นบริเวณที่มีไขมันมาก เช่น หน้าท้อง เอว สะโพก เป็นต้น จากนั้นจิ้มปากกาลดน้ำหนักลงไปตรงๆ โดยให้จิ้มเบาๆ กดปลายปากกาเพื่อฉีดจนระดับที่ปรับเป็นเลขศูนย์
- หลังจากนั้นถอดหัวเข็มออก เช็ดแอลกอฮอล์บริเวณผิวหนังที่ฉีดซ้ำอีกครั้งเป็นอันเสร็จสิ้น
โดยส่วนใหญ่แล้วการฉีดปากกาลดน้ำหนักจะฉีดในผิวหนังระดับตื้น ไม่ได้ลงลึกถึงระดับกล้ามเนื้อ จึงมักไม่รู้สึกเจ็บเท่าไรนัก หรือค่อนข้างน้อยเจ็บน้อย ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล
ทั้งนี้การใช้ปากกาลดน้ำหนัก ควรทำควบคู่ไปกับการควบคุมการรับประทานอาหารและการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอด้วย โดยแนะนำให้รับประทานอาหารจำพวกโปรตีน ผัก ผลไม้ ที่มีกากใย และลดอาหารที่มีน้ำตาล ไขมัน คาร์โบไฮเดรตสูง
ที่สำคัญควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ โดยผู้ใช้งานควรมาตรวจร่างกาย ติดตามผลของการลดน้ำหนักอย่างสม่ำเสมอ วัดเปอร์เซ็นต์ไขมันและกล้ามเนื้อ เพื่อผลลัพธ์ที่ดีที่สุด
ใช้ปากกาลดน้ำหนักอย่างไรไม่ให้โยโย่?
ปากกาลดน้ำหนัก เป็นหนึ่งในวิธีลดน้ำหนักที่ผ่านการรับรองมาตรฐานระดับสากล โดยตัวยาไม่ใช่ต้นเหตุของปัญหาโยโย่ เพียงแค่ช่วยทำให้ร่างกายรู้สึกอิ่มนานขึ้นเท่านั้น
แต่ผลข้างเคียงที่อาจทำให้เกิดการโยโย่ได้คือ ตามปกติแล้วเมื่อร่างกายได้รับแคลอรีน้อยลง ร่างกายจะดึงพลังงานจากกล้ามเนื้อไปใช้เป็นลำดับแรก น้ำหนักที่หายไปอาจไม่ใช่การลดลงของไขมันเสมอไป แต่เป็นการสลายของกล้ามเนื้อ ซึ่งการลดลงของกล้ามเนื้อนี้ คือเหตุผลที่หากหยุดใช้ปากกาลดน้ำหนักจะทำให้เสี่ยงโยโย่ได้ เนื่องจากกล้ามเนื้อเป็นแหล่งเผาผลาญพลังงาน หากกล้ามเนื้อลดลง แหล่งเผาผลาญพลังงานก็ลดลงด้วย หากกลับมารับประทานเท่าเดิม น้ำหนักอาจกลับมาเพิ่มขึ้นได้
ดังนั้นการใช้ปากกาลดน้ำหนัก จึงควรทำควบคู่ไปกับการควบคุมอาหาร ออกกำลังกาย และพบแพทย์เพื่อตรวจประเมินร่างกายอย่างสม่ำเสมอ
นอกจากนี้หากหยุดใช้ยาแล้ว ก็ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร เพราะหากยังมีพฤติกรรมแบบเดิมก็มีโอกาสที่น้ำหนักจะเพิ่มกลับขึ้นมาได้อีกครั้ง
ผลลัพธ์ของการใช้ปากกาลดน้ำหนัก
จากที่กล่าวไปข้างต้นว่า ปากกาลดน้ำหนักเป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ผ่านการรับรองมาตรฐานระดับสากล เนื่องจากมีผลการศึกษาหลายชิ้นที่พบว่าปากกาลดน้ำหนัก มีส่วนช่วยให้ลดน้ำหนักลงได้จริง
ทั้งนี้หนึ่งในการทดลองเทียบกับยาหลอกในอาสาสมัคร 3,731 คน ที่มีค่า BMI มากกว่า 27 และ 30 จำนวน 56 สัปดาห์ พบว่า ผู้ทดลองที่ได้รับยา น้ำหนักลดลงมากกว่า 10% หรืออย่างน้อย 5% และรอบเอวของผู้ทดลองยังลดลงถึง 8.2 เซนติเมตร นอกจากนี้หลังจากหยุดใช้ยาแล้ว พบว่ามีผลทำให้น้ำหนักกลับมาเพิ่มขึ้นเพียงแค่ 1.9% เท่านั้น
ปากกาลดน้ำหนัก เป็นหนึ่งในทางเลือกที่ดีทางเลือกหนึ่งในการช่วยลดน้ำหนัก สำหรับผู้ที่มีปัญหาน้ำหนักเกิน ซึ่งหากลดน้ำหนักได้ ก็จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคต่างๆ ลงได้ด้วย แต่ขณะเดียวกันการใช้ปากกาลดน้ำหนักควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ เพื่อความปลอดภัยสูงสุด
ที่มาของข้อมูล
- Helen Marshall, All About Saxenda (https://www.healthline.com/health/drugs/saxenda), 10 July 2566.
- webmd, Saxenda Pen Injector – Uses, Side Effects, and More (https://www.webmd.com/drugs/2/drug-168195/saxenda-subcutaneous/details), 10 July 2566.
- คณะแพทย์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลับมหิดล, ดัชนีมวลกาย สำคัญอย่างไร (https://www.si.mahidol.ac.th/th/healthdetail.asp?aid=1361), 10 กรกฎาคม 2566.
- พ.ญ.เมธชนัน เลิศชุณหะเกียรติ, ลดน้ำหนักง่ายได้ผลจริง ด้วยทางเลือกใหม่ กับปากกาลดความอ้วน (https://www.phyathai.com/th/article/3856-ลดน้ำหนักง่ายได้ผลจริ), 10 กรกฎาคม 2566.