fbpx

🔥FREE! Schedule a 3D Facial Design consultation with Dr.Chanya only this month 🇺🇸 🇰🇷 🔥

ผื่นแพ้อากาศ มีลักษณะอย่างไร ป้องกันอย่างไรดี?

ผื่นแพ้อากาศ มีลักษณะอย่างไร ป้องกันอย่างไรดี?
ผื่นแพ้อากาศ มีลักษณะอย่างไร ป้องกันอย่างไรดี?

ในขณะที่อากาศเปลี่ยนแปลงไปไม่ซ้ำกันในแต่ละวัน อีกทั้งยังต้องเผชิญกับมลพิษ ฝุ่นควัน รวมถึงฝุ่น PM 2.5 ที่มีอนุภาคเล็กมาก ซึ่งส่งผลเสียต่อระบบภูมิคุ้มกันภายในร่างกายและผิวหนังโดยตรง ผื่นแพ้อากาศ ก็เป็นหนึ่งในปัญหาที่เกิดจากปัจจัยเหล่านี้ โดยจะแสดงอาการแตกต่างกันไปตามแต่ละบุคคล ไม่ว่าจะเป็นอาการคันและขึ้นผื่นแดงตามใบหน้า ลำตัว บางรายอาจมีอาการคัดจมูกและน้ำมูกไหลร่วมด้วย 

Better Me Clinic จึงได้รวบรวมข้อควรรู้เกี่ยวกับผื่นแพ้อากาศมาไว้ในบทความนี้ เพื่อให้ทุกคนได้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับผื่นแพ้อากาศ และหาวิธีป้องกันรวมถึงการรับมือกับอาการนี้ในอนาคต ซึ่งผื่นแพ้อากาศคืออะไร? เกิดจากอะไร? มีลักษณะอย่างไรบ้าง? ป้องกันและรักษาได้อย่างไร? เราพร้อมคลายทุกข้อสงสัยให้ทุกคนในบทความนี้แล้ว หากพร้อมแล้ว ตามมาดูกันเลย!

ผื่นแพ้อากาศคืออะไร?

ผื่นแพ้อากาศ คือ โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังชนิดหนึ่ง (Atopic Dermatitis) เป็นสภาพผิวที่เกิดขึ้นเมื่อผิวได้รับการสัมผัสกับกับสารก่อภูมิแพ้ในสภาพแวดล้อม เช่น ละอองเกสรดอกไม้ ไรฝุ่น ฝุ่นพิษ หรือแม้กระทั่งฝุ่น PM 2.5 ซึ่งสารก่อภูมิแพ้เหล่านี้สามารถพบได้ทั่วไปในอากาศและอาจทำให้เกิดอาการคัน ระคายเคือง รวมถึงเกิดอาการผื่นแพ้บนผิวหนังได้ 

นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิและความชื้นอย่างกะทันหันยังมีส่วนทำให้เกิดภูมิแพ้อากาศได้เช่นกัน ส่วนใหญ่อาการนี้มักพบในในวัยเด็ก แต่ก็สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศและทุกวัย

ผื่นแพ้อากาศเกิดจากอะไร

เนื่องจากในหนึ่งวัน เราต้องเผชิญกับมลภาวะต่าง ๆ รอบตัวตั้งแต่เช้าจนถึงเย็น ส่งผลให้มีปัจจัยหลายอย่างที่สามารถกระตุ้นให้เกิดผื่นแพ้อากาศได้ โดยผื่นแพ้อากาศเกิดจากปัจจัยหลัก ๆ ดังต่อไปนี้

  • อากาศแห้ง สาเหตุหลักอย่างหนึ่งของการเกิดผื่นแพ้อากาศมาจากสภาพอากาศที่แห้ง มีระดับความชื้นต่ำ โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาวที่มีความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศลดน้อยลง  อาจทำให้ปริมาณความชื้นในผิวหนังลดลง รวมถึงความสมดุล (pH) ในผิวผิดปกติ ส่งผลให้เกิดผิวแห้ง ลอกเป็นขุย ระคายเคือง และมีผื่นแดงคัน 
  • อุณหภูมิเย็น ส่งผลให้เกิดผื่นแพ้อากาศรุนแรงขึ้นได้ เนื่องจากอากาศเย็นอาจทำให้หลอดเลือดในผิวหนังหดตัว ลดการไหลเวียนของเลือด และทำให้ความสามารถในการกักเก็บความชุ่มชื้นของผิวหนังลดลง จนเกิดเป็นผื่นภูมิแพ้อากาศหนาวตามมา
  • อากาศร้อน ก็มีส่วนทำให้เกิดผื่นแพ้อากาศได้เช่นกัน เนื่องจากความร้อนทำให้เหงื่อออก ส่งผลให้ผิวหนังมีความเปียกชื้นเพิ่มขึ้น ซึ่งเข้าไปรบกวนความสมดุลของผิวและทำให้เกิดการระคายเคือง เกิดเป็นผดและผื่นคันตามมา โดยเฉพาะในผู้ที่มีแนวโน้มเหงื่อออกง่ายหรือมีผิวแพ้ง่าย 
  • รังสียูวี (UV) หากได้รับรังสียูวีจากดวงอาทิตย์เป็นเวลานาน อาจทำให้เกิดการอักเสบและเพิ่มโอกาศในการเกิดผื่นได้
  • สารก่อภูมิแพ้ ในสิ่งแวดล้อมรอบตัวมีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นให้เกิดผื่นแพ้อากาศได้ ซึ่งสารก่อภูมิแพ้ที่พบบ่อย ได้แก่ ละอองเกสรดอกไม้ สปอร์ของเชื้อรา ไรฝุ่น และสะเก็ดผิวหนังของสัตว์เลี้ยง เมื่อสารก่อภูมิแพ้เหล่านี้สัมผัสกับผิวหนัง อาจทำให้เกิดการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้เกิดผื่นแพ้ขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่มีแนวโน้มแพ้ง่ายเป็นทุนเดิม
  • สารระคายเคืองบางชนิด ที่พบในผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในชีวิตประจำวันอาจทำให้เกิดผื่นแพ้อากาศได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นผงซักฟอก น้ำหอม ควัน ก๊าซจากการเผาไหม้ของน้ำมันเชื้อเพลิงรถยนต์ ควันโรงงาน เป็นต้น

ผื่นแพ้อากาศกับภูมิแพ้อากาศแตกต่างกันไหม

ผื่นแพ้อากาศกับภูมิแพ้อากาศแตกต่างกัน โดยผื่นแพ้อากาศจะเกิดขึ้นเมื่อผิวหนังสัมผัสกับสารที่กระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ อาจเกิดจากการสัมผัสโดยตรงกับสารก่อภูมิแพ้ที่ล่องลอยอยู่ภายในอากาศ เช่น พืช สารเคมี โลหะบางชนิด ฝุ่น ควัน หรือแม้กระทั่งอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป

ในทางกลับกัน ภูมิแพ้อากาศเกิดจากการสูดดมสารก่อภูมิแพ้ที่มีอยู่ในอากาศ เช่น ละอองเกสรดอกไม้ ไรฝุ่น สะเก็ดผิวหนังของสัตว์เลี้ยง หรือสปอร์ของเชื้อรา สารก่อภูมิแพ้เหล่านี้อาจทำให้เกิดอาการต่างๆ เช่น จาม อาการคัน น้ำมูกไหล และน้ำตาไหล

ผื่นแพ้อากาศส่งผลกระทบต่อผิวหนังเป็นหลัก ทำให้เกิดผื่น อาการแดง คัน บวม และบางครั้งก็เป็นแผลพุพองหรือลมพิษ ในทางกลับกัน ภูมิแพ้อากาศจะส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจเป็นหลัก โดยทำให้เกิดอาการต่าง ๆ ตามที่ได้กล่าวไปข้างต้น

อย่างไรก็ตามผื่นแพ้อากาศมักจะเกิดขึ้นพร้อมกับภูมิแพ้อากาศ โดยบางรายอาจมีทั้งอาการทางผิวหนังและระบบทางเดินหายใจ

ลักษณะอาการของผื่นแพ้อากาศ

ลักษณะอาการของผื่นแพ้อากาศนั้น มักเกิดขึ้นควบคู่ไปกับภูมิแพ้อาการ ซึ่งนอกจากจะมีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล ไอ จาม คันจมูก ตา และปากแล้ว ยังทำให้เกิดอาการทางผิวหนังต่างๆ ดังนี้

  • เกิดปื้นแดงหรืออาจมีตุ่มนูนแดงขึ้นบนผิวหนัง บริเวณใบหน้า ลำตัว แขน ขา บางรายอาจเกิดที่ข้อพับ ซึ่งเป็นลักษณะอาการของผื่นแพ้อากาศที่เห็นได้ชัด
  • ผิวแห้งและเป็นขุย ผื่นแพ้อากาศมักเริ่มจากความแห้งและเป็นขุยในบริเวณที่แพ้ โดยผิวจะดูหยาบกร้าน เป็นสะเก็ด และอาจเกิดรอยแตกได้
  • มีอาการคันและระคายเคือง หนึ่งในอาการที่พบบ่อยที่สุดคืออาการคันที่รุนแรงซึ่งอาจเกิดขึ้นต่อเนื่อง ยิ่งเกาบริเวณที่มีผื่นขึ้น ยิ่งทำให้ผื่นลามขยายวงกว้าง และเสี่ยงต่อการติดเชื้อ
  • เกิดการอักเสบ บวม แดง บางรายอาจมีผิวหนังอักเสบ บวม แดง ร่วมกับการเกิดผื่นด้วย
  • ผิวหนาขึ้น เมื่อเกิดผื่นแพ้อากาศแล้วไม่ได้รับการรักษาเป็นเวลานาน จะส่งผลให้ผิวหนังบริเวณที่แพ้หนาและคล้ำขึ้น

ผื่นแพ้อากาศส่งผลอะไรบ้าง?

แม้ว่าโรคผื่นแพ้อากาศจะไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต แต่ก็ส่งผลกระทบต่อชีวิตของผู้ที่มีอาการในหลายด้านเช่นกัน โดยผื่นแพ้อากาศจะส่งผลดังต่อไปนี้

  • ทำให้รู้สึกคันบ่อยครั้ง ผื่นแพ้อากาศจะทำให้เกิดอาการคัน ซึ่งเป็นการรบกวนการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะช่วงฤดูร้อนที่ร้อนชื้น หรือฤดูหนาวที่อากาศเย็นและแห้ง
  • ทำให้ผิวแพ้ง่าย ผู้ที่เป็นผื่นแพ้อากาศมีแนวโน้มที่จะตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นจากสิ่งแวดล้อมได้ง่ายขึ้น ไม่ว่าจะมาจากการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ ระดับความชื้น ลม หรือแม้แต่การสัมผัสกับแสงแดดก็อาจทำให้อาการรุนแรงขึ้นได้
  • เสียบุคลิกภาพ นอกจากผื่นแพ้อากาศจะขึ้นผื่นแดงแล้ว บางรายยังมีความแห้ง และตกสะเก็ด โดยเฉพาะบริเวณใบหน้าและลำคอ อาจทำให้ผู้ที่เป็นรู้สึกประหม่า วิตกกังวล และไม่กล้าเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคม
  • ส่งผลกระทบทางอารมณ์และจิตใจ การเป็นผื่นแพ้อากาศเรื้อรัง อาจส่งผลกระทบต่ออารมณ์และจิตใจของแต่ละคน เนื่องจากต้องทนอยู่กับอาการที่เกิดขึ้นเรื้อรัง เป็นอาการที่มองเห็นได้ด้วยตา และมีข้อจำกัดในการใช้ชีวิตมากขึ้น จนอาจนำไปสู่ความรู้สึกเบื่อหน่าย วิตกกังวล รวมถึงเกิดภาวะซึมเศร้าได้
ปรึกษาหมอเกียร์โดยตรง
ปรึกษาหมอชัญญาโดยตรง

ผื่นแพ้อากาศป้องกันอย่างไรได้บ้าง?

การป้องกันการเกิดภูมิแพ้อากาศนั้นทำได้ไม่ยาก แต่จำเป็นต้องอาศัยความอดทนและความสม่ำเสมอ โดย Better Me Clinic ได้นำเคล็ดลับการป้องกันผื่นแพ้อากาศมาให้ทุกคนได้นำไปลองปฏิบัติตาม โดยมี 6 เคล็ดลับ ดังนี้

  • ให้ความชุ่มชื้นอย่างสม่ำเสมอ การรักษาผิวให้ชุ่มชื้นเป็นสิ่งสำคัญในการป้องกันการเกิดผื่นแพ้ได้ ควรใช้มอยเจอร์ไรเซอร์ที่มีส่วนผสมที่ให้ความชุ่มชื้น เช่น เซราไมด์ กรดไฮยาลูโรนิก หรือกลีเซอรีน โดยควรเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ให้เหมาะสมกับสภาพผิวของเรา และควรทาลงไปให้ทั่วร่างกายหลังอาบน้ำ
  • หลีกเลี่ยงรังสียูวีจากแสงแดด ด้วยการทาครีมกันแดดที่มีค่า SPF สูง พร้อมกับสวมเสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี และควรหลีกเลี่ยงการอยู่ท่ามกลางอุณหภูมิที่สูงเป็นเวลานาน
  • หลีกเลี่ยงสบู่และน้ำยาทำความสะอาดที่มีฤทธิ์รุนแรง เพราะจะทำให้ผิวหนังที่บอบบางระคายเคืองมากขึ้น ทำให้มีโอกาสที่จะเป็นผื่นแพ้อากาศได้ 
  • ใช้สกินแคร์สูตรอ่อนโยนและปราศจากน้ำหอม ที่ผลิตมาเพื่อผิวแพ้ง่ายโดยเฉพาะ 
  • หลีกเลี่ยงการอาบน้ำและล้างหน้าด้วยน้ำร้อน เนื่องจากจะทำให้น้ำมันตามธรรมชาติหลุดออกไปและทำให้อาการผื่นแพ้อากาศหนักขึ้นได้
  • ใช้เครื่องทำความชื้นเพิ่มความชื้นให้กับอากาศภายในบ้าน วิธีนี้จะช่วยป้องกันไม่ให้ผิวของเราแห้งเสียและเสี่ยงต่อการระคายเคืองมากขึ้น

วิธีรักษาผื่นแพ้อากาศ

วิธีรักษาผื่นแพ้อากาศ สามารถทำได้ด้วยตัวเองในกรณีที่ไม่ได้มีอาการมากนัก หากมีอาการรุนแรงอาจต้องใช้ยาเข้ามาช่วยในการรักษา โดยสามารถรักษาผื่นแพ้อากาศด้วยวิธีต่างๆ ดังนี้

  • รักษาความชุ่มชื้นให้กับผิว ด้วยการเลือกมอยเจอร์ไรเซอร์ที่ออกแบบมาเพื่อผิวแพ้ง่ายหรือผิวแห้งโดยเฉพาะ และควรเป็นมอยเจอร์ไรเซอร์ที่มีส่วนผสมของเซราไมด์ กรดไฮยาลูโรนิก หรือกลีเซอรีน เนื่องจากจะช่วยกักเก็บความชุ่มชื้นได้ดี
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารระคายเคือง เช่น สบู่ที่มีฤทธิ์รุนแรง น้ำหอม และผงซักฟอก ควรเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่อ่อนโยนและปราศจากน้ำหอม นอกจากนี้ควรสวมใส่เสื้อผ้าที่นุ่มและระบายอากาศได้ดี
  • ใช้คอร์ติโคสเตียรอยด์เฉพาะที่ ในกรณีที่มีอาการรุนแรง อาจต้องใช้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์เฉพาะที่เพื่อลดผื่น การอักเสบ และอาการคัน เนื่องจากยาตัวนี้จะใช้ในกรณีลดอาการอักเสบและกดภูมิคุ้มกัน อย่างไรก็ตามควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์ก่อน เนื่องจากมีผลข้างเคียงในระยะยาว
  • กินยาแก้แพ้ สามารถช่วยบรรเทาอาการผื่นคันและอาการแพ้ต่าง ๆ แต่มีฤทธิ์ทำให้ง่วง ซึ่งควรปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพเพื่อดูปริมาณรวมถึงระยะเวลาการใช้ยาที่เหมาะสม

อาการผื่นแพ้อากาศแบบไหนที่ควรพบแพทย์

แม้ว่าโรคผื่นแพ้อากาศส่วนใหญ่สามารถจัดการได้ด้วยการดูแลตนเอง แต่ก็มีบางกรณีที่จำเป็นต้องไปพบแพทย์ เนื่องจากหากปล่อยไว้นานอาจเกิดอันตรายมากขึ้น โดยผู้ที่ควรไปพบแพทย์จะต้องมีอาการดังต่อไปนี้

  • อาการคันอย่างรุนแรงไม่ทุเลา อาการคันเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าเป็นผื่นแพ้อากาศ แต่หากอาการคันรุนแรงและไม่ทุเลา จนครีมและยาแก้แพ้ที่จำหน่ายในร้านขายยาไม่สามารถบรรเทาอาการได้ แนะนำให้ปรึกษาแพทย์เพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ 
  • ผื่นกระจายเร็ว เป็นวงกว้าง และมีสีแดง บวม แนะนำให้ไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและให้การรักษาต่อไป
  • มีอาการปวดอย่างรุนแรงหรือความรู้สึกแสบร้อน บริเวณที่เป็นผื่น
  • มีอาการไข้คล้ายไข้หวัดใหญ่ เช่น เหนื่อยล้า ปวดเมื่อยตามร่างกาย  เนื่องจากอาการเหล่านี้อาจบ่งบอกถึงการติดเชื้อที่แพร่กระจายออกไป โดยต้องได้รับความช่วยเหลือจากแพทย์ ให้ทำการวินิจฉัยและให้การรักษาอย่างทันท่วงที เพื่อสามารถช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนได้

วิธีฟื้นฟูผิวหลังเกิดผื่นแพ้อากาศ

หลังจากเกิดผื่นแพ้อากาศจนทำให้ผิวขึ้นผื่นแดง ผิวแห้ง เกิดการระคายเคือง หรือบางรายอาจมีผิวที่หนาและคล้ำเสีย สามารถนำวิธีฟื้นฟูผิวหลังเกิดผื่นแพ้อากาศที่ Better Me Clinic มาปรับใช้เพื่อมีผิวที่แข็งแรงและดูสุขภาพดีได้เลย 

  • เติมความชุ่มชื้นให้กับผิว ด้วยการดื่มน้ำในปริมาณที่เพียงพอตลอดทั้งวันเพื่อให้ร่างกายชุ่มชื้นจากภายในสู่ภายนอก นอกจากนี้ก็ควรใช้มอยเจอร์ไรเซอร์สูตรอ่อนโยนและปราศจากน้ำหอมเพื่อล็อคความชื้นรวมถึงป้องกันความแห้งกร้าน
  • ใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดสูตรอ่อนโยน ปราศจากน้ำหอม เหมาะสำหรับผู้ที่มีผิวแพ้ง่ายหรือผิวแห้ง เนื่องจากผลิตภัณฑ์ที่มีฤทธิ์รุนแรงสามารถดึงน้ำมันตามธรรมชาติออกจากผิวได้ ส่งผลให้เกิดความแห้งและระคายเคืองมากขึ้น 
  • หลีกเลี่ยงการอาบน้ำร้อน เพราะจะทำให้ผิวแห้งและอาการผื่นแพ้อากาศอาจแย่ลง นอกจากนี้ควรจำกัดเวลาอาบน้ำเพื่อป้องกันไม่ให้ผิวแห้งมากเกินไป รวมถึงควรทามอยเจอร์ไรเซอร์ทันทีหลังอาบน้ำเพื่อช่วยล็อคความชุ่มชื้นและบำรุงผิวด้วย
  • ปกป้องผิวจากสภาพอากาศที่รุนแรง ด้วยการสวมเสื้อผ้าที่เหมาะสม เช่น สวมถุงมือ ผ้าพันคอ และหมวกในช่วงฤดูหนาว ควรเลือกใช้ผ้าน้ำหนักเบาที่ระบายอากาศได้ดีในช่วงฤดูร้อน อย่าลืมทาครีมกันแดดที่มีค่า SPF 30 ขึ้นไป เพื่อปกป้องผิวจากรังสียูวีที่เป็นอันตราย
  • รับประทานอาหารให้ครบห้าหมู่ รวมถึงอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามิน แร่ธาตุ และสารต้านอนุมูลอิสระ เนื่องจากอาหารเหล่านี้ให้สารอาหารที่จำเป็นสำหรับการซ่อมแซมและฟื้นฟูผิว ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารแปรรูปและแอลกอฮอล์มากเกินไป
  • นอนหลับให้เพียงพอ ควรนอนอย่างน้อย 8 ชั่วโมง เพื่อให้ร่างกายได้มีโอกาสซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ ฟื้นฟูร่างกายและผิวให้กลับมามีสุขภาพที่แข็งแรง
  • Cleveland Clinic, Skin Rash (https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/17413-rashes-red-skin), 6 December 2023
  • Heath Direct, Heat rash (https://www.healthdirect.gov.au/heat-rash), 6 December 
  • MAKATI MEDICAL CENTER, 4 Skin Allergies Caused by the Weather (https://www.makatimed.net.ph/blogs/4-skin-allergies-caused-by-the-weather/), 6 December 
  • johnsons, ผื่นแพ้อากาศ ผื่นคันแพ้ฝุ่น เกิดจากสาเหตุอะไร และป้องกันได้อย่างไร(https://www.johnsonsbaby.co.th/review-and-tips/beauty/causes-of-allergic-rhinitis), 6 ธันวาคม 2566
  • Eucerin, ผื่นแพ้อากาศ อาการ มีสาเหตุการเกิดได้อย่างไร (https://www.eucerin.co.th/skin-concerns/sensitive-skin/pollution-rash), 6 ธันวาคม 2566

เว็บไซต์นี้ มีการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ (Cookies) เพื่อมอบบริการที่ดีที่สุดสำหรับคุณ