สิวฮอร์โมน ปัญหาผิวที่อาจเป็นมากกว่าสิว!
เบื่อไหมกับปัญหาสิวที่ไม่ยอมหายไปสักที มีสิวขึ้นซ้ำ ๆ ในช่วงเวลาเดิมตลอด ซึ่งปัญหาสิวเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณเตือนจากร่างกายที่บ่งบอกว่าคุณกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงภายในและส่งผลให้เกิดสิวฮอร์โมนขึ้นได้
บทความนี้ Better Me Clinic จะพาทุกคนไปไขข้อข้องใจเกี่ยวกับสาเหตุของการเกิดสิวฮอร์โมนพร้อมทั้งแนะนำวิธีรักษาสิวฮอร์โมนและวิธีป้องกันสิวฮอร์โมนให้อยู่หมัด ใครที่เผชิญกับปัญหาสิวฮอร์โมนอยู่ไม่ควรพลาด!
สิวฮอร์โมนคืออะไร?
สิวฮอร์โมน (Hormonal Acne) คือ สิวที่มีความสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในร่างกาย มักเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดิม ๆ เช่น ช่วงก่อนมีประจำเดือน, ช่วงหมดประจำเดือน, การตั้งครรภ์ และภาวะความเครียด ทำให้เกิดสิวขึ้นบริเวณใบหน้า โดยเฉพาะบริเวณทีโซน (T-zone) แก้ม และกราม
การรักษาสิวฮอร์โมนจึงเป็นวิธีรักษาปัญหาผิวที่หายได้ยากและมีความรุนแรงต่างกันในแต่ละบุคคล ขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน
สิวฮอร์โมนเกิดจากอะไร?
สิวฮอร์โมนเกิดจากความไม่สมดุลของฮอร์โมนในร่างกาย โดยเฉพาะฮอร์โมนเพศ อย่างฮอร์โมนแอนโดรเจน (Androgen) ที่มีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นการผลิตน้ำมันส่วนเกินหรือซีบัม (Sebum) ให้ออกมาทางรูขุมขนมากขึ้น
นอกจากนี้ ระดับฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงยังกระตุ้นให้เซลล์ผิวแบ่งตัวเร็วขึ้น ทำให้เกิดเซลล์ผิวใหม่โดยที่เซลล์ผิวที่ตายแล้วยังไม่ผลัดออกหรือยังผลัดออกไม่หมด เมื่อเซลล์ผิวตกค้างรวมกับน้ำมันส่วนเกินและแบคทีเรียบริเวณใบหน้า เช่น Propionibacterium Acnes ก็จะส่งผลให้เกิดการอุดตันของรูขุมขนและเกิดการอักเสบ กลายเป็นสิวอักเสบหรือสิวหัวหนองได้
สิวชนิดนี้พบได้มากในวัยรุ่นทั้งเพศหญิงและเพศชาย เพราะเป็นช่วงที่ฮอร์โมนในร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แต่ในเพศหญิงมักจะมีช่วงเวลาเกิดสิวที่ชัดเจนกว่า โดยมักจะสัมพันธ์กับรอบเดือน เช่น ช่วงก่อนมีประจำเดือน ที่ฮอร์โมนแอนโดรเจนเพิ่มขึ้น ทำให้ต่อมไขมันผลิตน้ำมันมากขึ้น หรือช่วงมีประจำเดือน ที่ฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลง ทำให้ประสิทธิภาพในการยับยั้งการผลิตน้ำมันลดลง สิวที่มีอยู่จึงอาจมีอาการรุนแรงขึ้น
ส่วนสิวฮอร์โมนเพศชาย หากพ้นช่วงวัยรุ่นมาแล้ว สิวฮอร์โมนที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่มักเกิดจากความเครียดหรือยาและอาหารเสริมบางชนิด เช่น ยาสเตียรอยด์ (Corticosteroids), เวย์โปรตีน หรือวิตามินบี (B12) ที่มีผลข้างเคียงต่อการทำงานของฮอร์โมน ระบบภูมิคุ้มกัน หรือกระบวนการผลิตน้ำมันของผิวหนัง
นอกจากสิวชนิดนี้จะแสดงให้เห็นถึงปัญหาผิวแล้ว ในบางรายหากสิวมีความรุนแรงมาก ก็อาจเป็นการสื่ออีกนัยจากร่างกายด้วยว่าเรามีฮอร์โมนที่ไม่สมดุล ควรเข้าพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายอย่างละเอียดและทำการรักษาต่อไป
สิวฮอร์โมนมีลักษณะอย่างไร?
หลายคนอาจสงสัยว่าสิวฮอร์โมนเป็นแบบไหน? หรือมีลักษณะอย่างไร? จริงๆ แล้ว สิวฮอร์โมน คือ สิวที่มีลักษณะแตกต่างกันออกไปตามระดับความรุนแรงและปัจจัยอื่น ๆ โดยทั่วไปแล้ว การทราบถึงประเภทของสิวจะช่วยให้เราเลือกวิธีรักษาสิวฮอร์โมนได้อย่างถูกวิธี โดยสิวฮอร์โมนสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท ดังนี้
1. สิวอุดตัน
สิวอุดตัน (Comedones) หรือ สิวไขมัน เป็นปัญหาผิวที่พบได้มากที่สุด เกิดจากการจับตัวกันของน้ำมันส่วนเกินและเซลล์ผิวหนังเก่าที่ตกค้างในรูขุมขน เมื่อสิ่งสกปรกเหล่านี้ทับถมกันมาก ๆ ก็จะไปขัดขวางการระบายของเสียที่ต้องขับออกทางรูขุมขน ทำให้เกิดเป็นถุงซีสต์ (Cystic Space) และกลายเป็นสิวอุดตันได้ในที่สุด โดยสิวชนิดนี้จะไม่เกี่ยวข้องกับการอักเสบหรือการติดเชื้อแบคทีเรีย
นอกจากนี้ สิวอุดตันยังแบ่งออกได้เป็นอีก 2 ประเภท คือ สิวอุดตันหัวขาว (Whiteheads) ที่มีลักษณะเป็นตุ่มนูนสีขาวขนาดเล็ก อาจสังเกตเห็นได้ยาก แต่ถ้าสัมผัสแล้วจะรู้สึกถึงปุ่มนูนใต้ผิว
และสิวอุดตันหัวดำ (Blackheads) เป็นสิวอุดตันที่มีลักษณะเป็นตุ่มนูนขนาดเล็กและมีหัวสีดำอยู่ตรงกลาง เกิดจากสารเมลานินของเซลล์ผิวหนังทำปฏิกิริยากับอากาศจนบริเวณหัวสิวกลายเป็นสีดำ
โดยสิวอุดตันทั้งสองชนิดนี้ เมื่อสัมผัสแล้วจะไม่มีอาการเจ็บใด ๆ มักพบได้มากบริเวณหน้าผาก จมูก แก้ม และคาง
2. สิวอักเสบ
สิวอักเสบ เป็นสิวที่พัฒนามาจากสิวอุดตัน เกิดจากการที่มีเชื้อแบคทีเรียเข้าไปในบริเวณที่เกิดสิวอุดตันอยู่ ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันต้องพยายามต่อสู้กับสิ่งแปลกปลอมจนส่งผลให้ผิวบริเวณดังกล่าวเกิดการระคายเคืองและอักเสบขึ้น
สิวอักเสบ จะมีอาการรุนแรงมากกว่าสิวอุดตัน โดยความรุนแรงของอาการนั้นขึ้นอยู่กับปริมาณและชนิดของแบคทีเรีย ระบบภูมิคุ้มกัน และระดับการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน สิวอักเสบจึงนับว่าเป็นโรคผิวหนังอักเสบเรื้อรังชนิดหนึ่ง
โดยสิวอักเสบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมน มักจะพบได้บ่อยในบริเวณบริเวณทีโซน กราม ไหล่ และแผ่นหลัง เนื่องจากเป็นบริเวณที่มีต่อมไขมันอยู่จำนวนมาก
สิวฮอร์โมนรักษาอย่างไรได้บ้าง?
สิวฮอร์โมนรักษาอย่างไรได้บ้าง? วิธีรักษาสิวฮอร์โมนขึ้นอยู่กับความรุนแรงของสิวและระดับความไม่สมดุลของฮอร์โมน การรักษาสิวฮอร์โมนสามารถทำได้หลายวิธี โดยจะเน้นไปที่การดูแลผิวร่วมกับการควบคุมฮอร์โมนให้มีความสมดุลเหมาะสม ดังนี้
1. ใช้ผลิตภัณฑ์รักษาสิวเฉพาะที่
วิธีรักษาสิวฮอร์โมนด้วยการใช้ผลิตภัณฑ์รักษาสิวเฉพาะที่ (Topical Treatments) เป็นวิธีแรก ๆ ที่คนมักจะนึกถึงเมื่อเป็นสิว เพราะเป็นวิธีที่ง่าย มีผลข้างเคียงน้อยกว่าการรับประทานยารักษาสิว รวมถึงให้ผลการรักษาที่ค่อนข้างดี
โดยผลิตภัณฑ์รักษาสิวเฉพาะที่จะมีคุณสมบัติในการฆ่าเชื้อสิวและช่วยผลัดเซลล์ผิว ทำให้ความรุนแรงของสิวที่เป็นอยู่ทุเลาลงและลดโอกาสที่จะเกิดสิวใหม่ได้ สำหรับยาใช้เฉพาะที่ที่นิยมนำมาใช้ในการรักษาสิวฮอร์โมน มีดังนี้
- ยากลุ่มเบนโซลอิลเพอร์ออกไซด์ (Benzoyl Peroxide) มีคุณสมบัติในการลดจำนวนแบคทีเรีย Cutibacterium Acnes ที่ทำให้เกิดสิว รวมถึงยังมีคุณสมบัติในการลดการอักเสบอีกด้วย
- กรดซาลิไซลิก (Salicylic Acid) เป็นส่วนประกอบสำคัญของยาละลายหัวสิว ช่วยละลายเซลล์ผิวที่ตายแล้วและน้ำมันส่วนเกินที่อุดตันรูขุมขน ทำให้สิวหัวอุดตันหลุดออกได้ง่ายขึ้น
- ยากลุ่มเรตินอยด์ (Retinoid) เช่น Tretinoin หรือ Adapalene ยาเหล่านี้เป็นยาที่เป็นอนุพันธ์ของกรดวิตามินเอ มีคุณสมบัติสำคัญในการลดการอุดตันของรูขุมขน มักใช้ในกรณีที่สิวฮอร์โมนมีความรุนแรงปานกลางถึงรุนแรงมาก
- ยาที่มีส่วนผสมของกรดอะซีลาอิก (Azelaic Acid) มีคุณสมบัติในการขจัดเซลล์ผิวที่ตายแล้ว ช่วยลดการอักเสบของสิว และมีฤทธิ์ในการต้านเชื้อแบคทีเรีย การใช้ยานี้ในผู้ที่เป็นสิวอักเสบ จะช่วยให้การอักเสบดีขึ้น รวมถึงช่วยลดรอยสิวหลังจากสิวหายได้อีกด้วย
- ยาที่มีส่วนผสมของซัลเฟอร์ (Sulfur) ซัลเฟอร์มักถูกผสมเข้ากับสารตัวอื่นที่ช่วยในการรักษาสิว เนื่องจากซัลเฟอร์สามารถดูดซับความมันและสิ่งสกปรกภายในรูขุมขนได้ นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์ในการต้านเชื้อแบคทีเรีย ทำให้อาการอักเสบดีขึ้นด้วย
- ยาทาปฏิชีวนะ หรือ ยาฆ่าเชื้อ (Topical Antibiotics) เช่น Clindamycin หรือ Erythromycin มีคุณสมบัติในการฆ่าเชื้อและยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย อย่างไรก็ตามยาปฏิชีวนะไม่ควรใช้เป็นยาตัวเดียวในการรักษาสิว เพราะแบคทีเรียจะดื้อยาได้เร็ว ควรใช้ร่วมกับยาชนิดอื่น ๆ ที่กล่าวไปก่อนหน้านี้
ทั้งนี้ การใช้ผลิตภัณฑ์รักษาสิวเฉพาะที่ก็ควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์และเภสัชกร เนื่องจากยาแต่ละตัวอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้ รวมถึงควรหลีกเลี่ยงยาที่มีสารก่อให้เกิดอันตราย ยาที่ไม่ได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพราะอาจทำให้ผิวหน้าเกิดอาการแพ้มากขึ้น
2. รับประทานยารักษาสิว
วิธีรักษาสิวฮอร์โมนด้วยการรับประทานยารักษาสิว (Oral Medications) เป็นวิธีที่แพทย์มักเลือกใช้หลังจากรักษาสิวฮอร์โมนด้วยยาใช้ภายนอกแล้วไม่ได้ผล โดยการรักษาด้วยวิธีนี้จะต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เฉพาะทางเท่านั้น เนื่องจากเป็นการรักษาที่มีผลข้างเคียงค่อนข้างรุนแรง
สำหรับยารักษาสิวฮอร์โมนชนิดรับประทาน มักจะเน้นไปที่ยาที่มีคุณสมบัติในการควบคุมฮอร์โมนและการผลิตน้ำมันจากภายใน โดยตัวยาที่นิยมใช้มีดังนี้
- ยาคุมกำเนิด (Oral Contraceptives) ยาคุมกำเนิดจะเข้าไปลดการผลิตของฮอร์โมนแอนโดรเจนซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ส่งผลต่อการผลิตซีบัม ช่วยลดการสะสมของแบคทีเรียบริเวณใบหน้าและลดโอกาสเกิดสิวฮอร์โมนได้ดี
- ยาปรับสมดุลฮอร์โมน (Spironolactone) ยาตัวนี้จะเข้าไปยับยั้งการทำงานของฮอร์โมนแอนโดรเจน ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดสิวฮอร์โมน เป็นยาที่มักใช้ในผู้หญิงที่มีสิวฮอร์โมนเรื้อรังและมีความไม่สมดุลของฮอร์โมน
- ยากลุ่มไอโสเตรตินอย (Isotretinoin) เป็นอนุพันธ์ของกรดวิตามินเอ มีคุณสมบัติในการลดการผลิตน้ำมัน การอุดตันในรูขุมขน และลดการอักเสบ ให้ผลลัพธ์หลังรับประทานที่ดี แต่มีผลข้างเคียงที่รุนแรง แพทย์จึงมักจะเลือกใช้ในผู้ที่มีสิวฮอร์โมนจำนวนมากหรือสิวฮอร์โมนมีการอักเสบรุนแรง
- ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics) เช่น ด็อกซีไซคลีน (Doxycycline) และเซฟาเลกซิน (Cephalexin) ยาชนิดนี้จะเหมาะสำหรับผู้ที่มีสิวอักเสบรุนแรง โดยตัวยาจะยับยั้งการอักเสบจากแบคทีเรีย เช่น แบคทีเรีย Propionibacterium Acnes อย่างไรก็ตามเภสัชกรมักแนะนำให้ใช้ยาปฏิชีวนะร่วมกับยาทาเฉพาะที่เพื่อลดการดื้อยา
3. การรักษาสิวฮอร์โมนด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์
วิธีรักษาสิวฮอร์โมนด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์มีหลากหลายวิธี ซึ่งปัจจุบันเทคโนโลยีเหล่านี้ได้รับการพัฒนาขึ้นเพื่อลดการอักเสบของสิวและลดการกระตุ้นฮอร์โมนที่เป็นสาเหตุของสิวได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยวิธีการที่ได้รับความนิยม มีดังนี้
- เลเซอร์ Q-Switch เป็นเลเซอร์ที่ปล่อยพลังงานแสงในช่วงความถี่สูงที่มีช่วงคลื่นแคบ ทำให้มีประสิทธิภาพในการทำลายเม็ดสีเมลานินในผิวโดยไม่รบกวนเนื้อเยื่อโดยรอบ ส่วนมากมักจะนิยมใช้ในการรักษารอยดำหลังจากการเป็นสิว แต่เนื่องจากพลังงานนี้มีความถี่ที่สูงมาก หากใช้เลเซอร์ Q-Switch ขณะเป็นสิว พลังงานจะเข้าไปทำลายเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของสิวได้ถึงผิวชั้นลึก จึงช่วยลดการอักเสบได้อย่างตรงจุด
- เลเซอร์ Fractional CO2 เป็นเครื่องเลเซอร์ที่นิยมใช้รักษาโรคผิวหนัง โดยตัวเครื่องจะใช้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นตัวกลางในการสร้างแสงเลเซอร์ พลังงานจะเข้าไปทำลายเนื้อเยื่อบริเวณนั้น ๆ และกระตุ้นให้เกิดการสร้างเนื้อเยื่อใหม่ขึ้นมาทดแทน Fractional CO2 มักจะนิยมนำใช้มากในการรักษาสิวฮอร์โมนประเภทสิวอุดตัน โดยพลังงานจะเข้าไปเปิดปากรูขุมขน กำจัดไขมันและสิ่งสกปรกภายในรูขุมขนออก รวมถึงช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่เป็นต้นเหตุของสิวอีกด้วย
- IPL (Intense Pulsed Light) เป็นการใช้พลังงานแสงหลายความถี่เข้าไปทำลายเม็ดสีเมลานิน ลดการอักเสบ และกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนคล้ายกับการใช้เลเซอร์ แต่พลังงานของ IPL มีความเข้มน้อยกว่าและมีลำแสงที่กระจายตัวมากกว่า ทำให้ผิวหลังทำ IPL นั้นฟื้นตัวได้เร็วกว่าการใช้เลเซอร์ อย่างไรก็ตาม IPL นั้นเหมาะสำหรับผู้ที่มีปัญหาสิวที่ไม่รุนแรงมาก ส่วนผู้ที่มีปัญหาสิวที่เกิดในผิวชั้นลึกอาจจำเป็นต้องเลือกใช้เทคโนโลยีอื่นแทน
- การผลัดเซลล์ผิว เป็นการใช้สารเคมีเข้าไปกระตุ้นให้ผิวชั้นนอกสุดที่ตายแล้วหลุดออกและกระตุ้นให้เกิดการสร้างเซลล์ผิวใหม่ โดยที่ Better Me Clinic เรามีการทำ Magic Peeling สูตร Acne Peeling ที่คิดค้นขึ้นเพื่อแก้ปัญหาสิวโดยเฉพาะ ตัวยาจะเข้าไปกำจัดแบคทีเรียและเซลล์ผิวที่อุดตันซึ่งเป็นสาเหตุของสิว ช่วยให้อาการอักเสบดีขึ้นและทำให้สิวแห้งไวขึ้นด้วย
- การฉีดมาเด้คอลลาเจน คือ โปรแกรมเมโสชนิดหนึ่งที่เน้นฉีดตัวยาที่มีส่วนผสมของวิตามิน แร่ธาตุ และคอลลาเจนเข้าไปที่ชั้นผิว มีคุณสมบัติสำคัญในการช่วยรักษาสิว ขับสารพิษและของเสีย รวมถึงกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด ทำให้ผิวแข็งแรงขึ้น เหมาะสำหรับผู้ที่มีปัญหาสิวทุกชนิด
- การทำทรีตเมนต์ เป็นการเติมสารอาหารให้กับผิวหน้าโดยตรงผ่านเทคนิคต่าง ๆ ซึ่งหากใครกำลังเจอกับปัญหาสิวฮอร์โมน Better Me Clinic ขอแนะนำ Acne Treatment ทรีตเมนต์ที่มีส่วนผสมของ Tree Tea Oil ช่วยลดการอักเสบและการเห่อของสิว เหมาะสำหรับผู้ที่มีสิวอักเสบและสิวอุดตัน
ทั้งนี้ การรักษาสิวฮอร์โมนแต่ละวิธีอาจเหมาะกับสภาพผิวและความรุนแรงของสิวที่แตกต่างกัน หากยังไม่มั่นใจว่าควรเลือกรักษาสิวฮอร์โมนด้วยวิธีใด สามารถติดต่อเข้ามาที่ Better Me Clinic by Dr. Chanya เพื่อให้ให้คุณหมอประเมินสภาพผิวและแนะนำหัตถการได้เลย!
วิธีป้องกันการเกิดสิวฮอร์โมน
วิธีป้องกันการเกิดสิวฮอร์โมนเป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กันกับกระบวนการรักษา เนื่องจากการดูแลผิวอย่างถูกวิธีตั้งแต่เนิ่น ๆ ควบคู่กับการควบคุมฮอร์โมนจะช่วยลดโอกาสการเกิดสิวฮอร์โมนและปัญหาผิวอื่น ๆ ไก้ โดยวิธีป้องกันการเกิดสิวฮอร์โมนที่ Better Me Clinic แนะนำ มีดังนี้
- ล้างหน้าให้สะอาด ควรล้างหน้าอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ด้วยผลิตภัณฑ์ที่อ่อนโยนต่อผิวและไม่ทำให้รูขุมขนอุดตัน ควรเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ปราศจากน้ำมัน (Oil-free) และไม่ทำให้เกิดสิว (Non-Comedogenic) รวมถึงควรใช้คลีนซิ่งเช็ดเครื่องสำอางก่อนล้างหน้าเสมอ
- ใช้ผลิตภัณฑ์ผลัดเซลล์ผิว เช่น สครับ หรือมาส์ก ที่มีส่วนผสมของเม็ดบีดหรือส่วนผสมที่ช่วยขจัดเซลล์ผิวที่ตายแล้ว เพื่อทำให้รูขุมขนสะอาดขึ้นและลดการอุดตัน
- ใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่เหมาะสม ควรเลือกใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่มีส่วนช่วยในการควบคุมน้ำมัน ผลัดเซลล์ผิว ลดการอุดตัน และลดการผลิตน้ำมันบนผิว
- หลีกเลี่ยงการเผชิญกับแดดจ้า เนื่องจากรังสีอัลตราไวโอเล็ต หรือรังสี UV ที่อยู่ในแสงแดดจะไปกระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาออกซิเดชั่น ทำให้ผิวเกิดการอักเสบและเกิดสิวได้
- ปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหาร ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีน้ำตาลสูง เช่น ขนมหวาน, อาหารที่มีแป้งขัดขาว และน้ำอัดลม เนื่องจากอาหารเหล่านี้จะไปกระตุ้นการผลิตอินซูลินและฮอร์โมนแอนโดรเจน ทำให้ต่อมไขมันผลิตน้ำมันส่วนเกินออกมามากขึ้นและเกิดสิวฮอร์โมนได้
- ควบคุมความเครียด เนื่องจากความเครียดสามารถกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) ซึ่งมีผลกระทบต่อการผลิตน้ำมันบนผิวหนังและอาจทำให้สิวฮอร์โมนแย่ลงได้
- การนอนหลับอย่างเพียงพอ ควรนอนอย่างน้อย 7-9 ชั่วโมงต่อวัน เพื่อช่วยให้ร่างกายฟื้นฟูตัวเองและรักษาระดับฮอร์โมนให้สมดุล ลดโอกาสที่จะเกิดสิวฮอร์โมนได้
นอกจากนี้ การพบแพทย์ผิวหนังก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยป้องกันและรักษาสิวฮอร์โมนให้มีประสิทธิภาพได้เช่นกัน เนื่องจากปัญหาสิวฮอร์โมนที่เกิดขึ้นในบางรายอาจไม่สามารถควบคุมได้ด้วยวิธีการทั่วไป การพบแพทย์ผิวหนังเพื่อประเมินอาการและทำการรักษาตามวิธีที่เหมาะสม จะช่วยลดความรุนแรงเมื่อเกิดสิวฮอร์โมนได้
คำถามที่พบบ่อย
1. สิวฮอร์โมนหายตอนไหน? ใช้ระยะเวลานานเท่าไหร่?
หลายคนที่ประสบกับปัญหาสิวฮอร์โมนอาจสงสัยว่า สิวฮอร์โมนหายตอนไหน? Better Me Clinic ต้องขอบอกว่าสิวฮอร์โมนเป็นสิวที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมน ทำให้ระยะเวลาในการหายของสิวนั้นแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับฮอร์โมนและการรักษาสิวฮอร์โมนอย่างเหมาะสม
โดยปกติแล้ว หากสิวเกิดขึ้นเพียงเล็กน้อยในช่วงรอบเดือน สิวฮอร์โมนเหล่านี้มักจะหายได้เองภายใน 1-2 สัปดาห์ หลังจากสิ้นสุดรอบเดือน
และถ้าหากสิวฮอร์โมนมีความรุนแรงในระดับปานกลาง คือ มีสิวอุดตันหรือสิวอักเสบจำนวนมาก เกิดขึ้นซ้ำ ๆ และต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน หากดูแลรักษาอย่างเหมาะสม อาการก็จะค่อย ๆ ดีขึ้นภายใน 4-6 สัปดาห์
แต่ถ้าเมื่อใดที่สิวฮอร์โมนมีอาการรุนแรง มีจำนวนเยอะ มีการอักเสบมาก และเป็นต่อเนื่องมายาวนาน อาจจะต้องใช้ระยะเวลาหลายเดือนหรือบางครั้งอาจเป็นปี สิวหายฮอร์จึงจะค่อย ๆ หายและกลับมามีผิวหน้าที่แข็งแรงดังเดิม
2. หมดประจำเดือนแล้วแต่ทำไมยังเป็นสิวอยู่
การที่สิวยังคงเกิดขึ้นหลังจากหมดประจำเดือนไปแล้ว อาจเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย เนื่องจากช่วงหมดประจำเดือน ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนจะลดลงอย่างมาก ในขณะที่ฮอร์โมนแอนโดรเจนอาจยังคงมีอยู่ ทำให้ฮอร์โมนเกิดความไม่สมดุล ส่งผลให้ต่อมไขมันผลิตน้ำมันออกมามากขึ้นและทำให้เกิดสิวได้ง่าย
นอกจากนี้ ปัญหาสิวหลังหมดประจำเดือนยังเกิดขึ้นได้จากปัจจัยอื่น ๆ อีกด้วย เช่น ความเครียด, การใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่ไม่เหมาะสม, ปัญหาสุขภาพและการใช้ยา รวมถึงอาหารที่รับประทานเข้าไป
3. สิวฮอร์โมนแบบไหนที่ควรพบแพทย์
หากสิวฮอร์โมนที่มีอาการไม่รุนแรงมาก เบื้องต้นสามารถรักษาได้ด้วยตนเอง แต่ถ้าลองรักษามาสักระยะหนึ่งแล้วพบว่าสิวไม่ตอบสนองต่อการรักษาและมีอาการที่รุนแรงมากขึ้น เช่น มีการอักเสบมาก, มีจำนวนมากขึ้น หรือมีขนาดใหญ่ ก็ควรเข้าพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยและหาวิธีการรักษาที่เหมาะสมทันที
หรือในกรณีที่สิวยังมีอาการไม่รุนแรง เช่น สิวอุดตัน สิวฮอร์โมนเพศชาย แต่เกิดความกังวลก็สามารถเข้ามาพบแพทย์เพื่อทำการรักษาได้เช่นกัน เพราะการรักษาสิวตั้งแต่เนิ่น ๆ จะช่วยลดโอกาสในการเกิดรอยดำ รอยแดง รวมถึงเกิดหลุมสิวได้
สรุปเกี่ยวกับสิวฮอร์โมน
สิวฮอร์โมนเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย ทำให้ต่อมไขมันผลิตน้ำมันมากเกินไปจนเกิดการอุดตันรูขุมขนและเกิดการอักเสบ สิวประเภทนี้มักจะขึ้นซ้ำ ๆ ในช่วงเวลาเดิม เช่น ก่อนมีประจำเดือน หรือช่วงที่มีความเครียดสูง
การรักษาสิวฮอร์โมนจึงต้องอาศัยทั้งการดูแลผิวจากภายนอกและการปรับสมดุลฮอร์โมนจากภายใน หากสิวยังไม่หายหรือมีอาการรุนแรงมากขึ้น ควรปรึกษาแพทย์ผิวหนังเพื่อรับการวินิจฉัยและทำการรักษาให้ถูกวิธีทันที
หากคุณสนใจที่จะรักษาสิวฮอร์โมน ให้ Better Me Clinic by Dr. Chanya เป็นหนึ่งในทางเลือก เพราะเรามีบริการรักษาสิวให้เลือกอย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการผลัดเซลล์ผิว การทำทรีตเมนต์พร้อมฉายแสง LED หรือแม้กระทั่งการฉีดมาเด้คอลลาเจน ทุกบริการเราดูแลโดยแพทย์ผู้ชำนาญการเท่านั้น
หากยังไม่มั่นใจว่าควรเลือกรักษาสิวฮอร์โมนด้วยวิธีใด สามารถติดต่อเข้ามาที่ Better Me Clinic by Dr. Chanya เพื่อให้ให้คุณหมอประเมินสภาพผิวและแนะนำหัตถการได้เลย! หากสนใจ สามารถติดต่อนัดหมายได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 02-059-8118, 088-603-2641 หรือไลน์ @bettermeclinic ปรึกษาคุณหมอฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย รับรองว่าคุณจะมีผิวสวย ๆ กลับบ้านไปอย่างแน่นอน!
- Healthline, Treatments and Natural Remedies to Get Rid of Hormonal Acne (https://www.healthline.com/health/beauty-skin-care/hormonal-acne), 14 October 2024.
- Medical News Today, Hormonal acne: What you need to know (https://www.medicalnewstoday.com/articles/313084), 14 October 2024.
- My Cleveland Clinic, Hormonal Acne (https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/21792-hormonal-acne), 14 October 2024.
- HDmall, Aldactone (ตัวยา Spironolactone) (https://hd.co.th/aldactone), 14 ตุลาคม 2567.